ค้านกกพ. รื้อค่าไฟรายภาค เอกชนห่วงซ้ำรอยกม.ต่างด้าว ทำลายเป้าโปรโมตอันซีนไทย

ส.อ.ท.ทั่วประเทศออกโรงค้านแนวคิด กกพ.เก็บค่าไฟฟ้าต้นทุนแยกรายภูมิภาค กระทบธุรกิจท่องเที่ยวแบกต้นทุนแพง สวนทางนโยบายรัฐโปรโมตเที่ยวไทย วอนรับฟังความเห็นเอกชน-ปชช.ก่อนซ้ำรอย กม.ต่างด้าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างศึกษาการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าฐานให้สอดรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะประกาศปี 2561 และใช้ต่อเนื่อง 4 ปี (2561-64) โดยอาจกำหนดราคาค่าไฟตามภูมิภาค รวมทั้งกำหนดตามระยะทางโดยสถานที่ห่างไกล อาทิ เกาะ อาจเก็บค่าไฟจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวแพงกว่าบ้านเรือนประชาชน ว่า แนวคิดการปรับโครงสร้างค่าไฟเพื่อสะท้อนต้นทุนและเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟ เป็นเรื่องดี เอกชนไม่ขัดข้อง แต่ค่อนข้างกังวลว่าจะยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการทั้งภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมหรือไม่ อย่างภาคท่องเที่ยวหากเก็บต้นทุนไฟฟ้าแพงก็กระทบต่อการดำเนินกิจการ สวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่พยายามสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ห่างไกล รูปแบบอันซีน ซึ่งการโปรโมตท่องเที่ยวลักษณะนี้ต้องสนับสนุนให้เอกชนเข้าไปลงทุน เมื่อลงทุนก็จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชน เช่นเดียวกับมุมอุตสาหกรรมการผลิตจะได้รับผลกระทบ หากอัตราค่าไฟฟ้าต่างกันตามภูมิภาค เพราะต้นทุนพลังงานมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการผลิต ปัจจุบันเฉลี่ย 10% ยกเว้นบางอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการผลิตสูง อาทิ เหล็ก แก้ว เซรามิก มีต้นทุนเฉลี่ย 30%

“อยากให้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเอกชนผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ไม่อยากให้ซ้ำรอยกฎหมายแรงงานต่างด้าว ที่ออกมาแล้ว ต้องตามแก้ไข เพราะหากรัฐบาลมีแนวทางดำเนินงาน มีเหตุผล เอกชนก็พร้อมรับฟัง ไม่ได้เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ทุกอย่างควรทำอย่างมีเหตุผล อยากเสนอให้รัฐบาลกำหนดแนวทางปฏิรูปทุกด้านของประเทศ อย่างกรณีเก็บค่าไฟฟ้าเอกชนที่อยู่พื้นที่เกาะ ก็ควรจัดโซนให้ชัดเจน เพื่อกำหนดตายตัวว่าแต่ละพื้นที่ของประเทศควรจะดำเนินการเรื่องใด หรือห้ามเรื่องใดบ้าง” นายเกรียงไกร กล่าว

นายธนวัฒน์ พันธุ์โกศล ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ภาคเอกชนในพื้นที่ประเมินว่าแนวคิด กกพ.อาจกระทบต่อต้นทุนการบริหารจัดการพอสมควร และพื้นที่เกาะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ภาคการผลิตมีเพียงเล็กน้อยส่วนใหญ่เป็นเพียงโรงกลึงและโรงซ่อมขนาดเล็ก ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดต้องหารือกันอีกครั้งว่าอัตราเหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไร ส่วน กกพ.เสนอรูปแบบให้ภาคเอกชนบนเกาะผลิตไฟฟ้าแบบไมโครกริดนั้น มองว่าเป็นแนวคิดที่ดี เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าบางส่วน ขณะเดียวกันภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

นายชริน ธำรงเกียรติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภาครัฐควรสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน การปรับฐานค่าไฟฟ้ารายภูมิภาค กระทบต่อเอกชนแน่นอน หากภาครัฐยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลัก ควรเดินหน้าส่งเสริมโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ควรเปิดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามารับซื้อไฟฟ้าได้

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน