การเกษตรในพื้นที่จำกัด ใครก็ทำได้ แต่ทำให้สำเร็จไม่ง่าย ไปดูตัวอย่าง ได้ที่ “1 ไร่ไม่ยากจน” ม. มหิดล กาญจนบุรี

สวัสดีค่ะ ผู้อ่านท่านผู้เจริญคะ ท่านเคยคิดกันหรือไม่ว่า ที่ดินในไทยแลนด์แดนมหัศจรรย์นั้น มันไม่มีทางงอกออกมาได้ สมมติว่ารุ่นปู่ รุ่นย่า ของเราอาจจะเคยครอบครองที่ทำกินเป็นร้อยไร่ ตกมาถึงมือพ่อแม่เรา 20-30 ไร่ พอมาถึงมือเราเหลือที่ดิน 5-10 ไร่ แล้วลูกหลานของเราจะเหลือที่ดินกันคนละกี่ไร่

จำนวนคนไทย ลูกท่าน หลานเดี๊ยน ที่เกิดมาทุกวันจนใกล้ 70 ล้านคน อยู่รอมร่อ จะมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินกันคนละกี่ไร่ แล้วที่ดินที่มีกันคนละเท่าแมวดิ้นตายนั้น เราจะปลูกอะไรเอาไว้กินไว้ขายได้บ้าง เราท่านเคยคิดกันไว้หรือยังคะ ถ้ายังรันตีขอพาไปชม “โครงการ 1 ไร่ไม่ยากจน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กันค่ะ

ที่มาของโครงการ ฟาร์ม 1 ไร่ไม่ยากจน

รันตี พาท่านมาพบกับ อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร และดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าสำนักวิชาสหวิทยาการ ด้านบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และยังเป็นหัวหน้าโครงการ “ฟาร์มเกษตรและอาหารปลอดภัย 1 ไร่ไม่ยากจน”

อาจารย์เล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้ให้ฟังว่า “โครงการฟาร์มเกษตรและอาหารปลอดภัย 1 ไร่ไม่ยากจน เป็นงานที่ผมเริ่มต้นทำเมื่อ ุ6 ปีที่แล้ว โดยตั้งใจให้เป็นฟาร์มเกษตรผสมผสานที่มีทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยใช้ระบบการผลิตแบบเกษตรประณีต

ฟาร์ม 1 ไร่ไม่ยากจน ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อหลายวัตถุประสงค์ หนึ่งนั้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิชาหลักการส่งเสริมการเกษตรและวิชาธุรกิจการเกษตรที่ผมดูแลอยู่ และวิชาอื่นๆ ที่เปิดสอนในวิทยาเขต เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือทำจริงในทุกๆ ด้านของงานฟาร์ม

อีกวัตถุประสงค์สำคัญเราต้องการตอบโจทย์ปัญหาระบบการผลิตทางการเกษตรในอนาคตที่เกษตรกรรายย่อยของไทยต้องพบเจอ เนื่องมาจากการที่เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยมีพื้นที่ทำกินน้อย ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก มีปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตต่ำ ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ

Advertisement

เกษตรกรของเราตกอยู่ในปัญหาความยากจนและวงจรหนี้สิน นอกจากนั้น หากเรามองสถานการณ์การผลิตทางการเกษตรทั้งในปัจจุบันและอนาคตมีผู้คาดการณ์ว่า เกษตรกรรายย่อยจะต้องเผชิญกับปัญหามากขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลก ส่งผลให้การผลิตทางการเกษตรมีการแข่งขันที่รุนแรง และเข้าสู่รูปแบบธุรกิจมากขึ้น ในอนาคตเกษตรกรรายย่อยที่ปรับตัวไม่ทันจะต้องสูญเสียที่ดิน แรงงาน และปัจจัยการผลิตไป”

อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย หัวหน้าโครงการฟาร์มเกษตรและอาหารปลอดภัย 1 ไร่ไม่ยากจน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยกว่า 5 ไร่!!?

Advertisement

รันตี มาตกใจกับเรื่องที่อาจารย์ธนากรเล่าต่อค่ะ “เหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ผมคิดจะทำโครงการฟาร์มเกษตรและอาหารปลอดภัย 1 ไร่ไม่ยากจน ก็คือ ผมไปพบข้อมูลว่า เกษตรกรไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยกว่า 5 ไร่ ถึง 2,675,683 ครัวเรือน จากเกษตรกรทั้งประเทศ 5,314,315 ครัวเรือน

หรือว่ากันให้ชัดกว่านั้นคือ ผู้ถือครองที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ มีสัดส่วนถึง ร้อยละ 50.64 และผู้ถือครองที่ดิน ระหว่าง 1-4 ไร่ มีสัดส่วน ร้อยละ 29.55 นั่นคือ ผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 80.19 เป็นผู้ที่มีที่ดินน้อยกว่า 5 ไร่ ข้อมูลเหล่านี้เป็นของภาครัฐทั้งสิ้น

“ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นที่มาของโครงการฟาร์มเกษตรและอาหารปลอดภัย 1 ไร่ไม่ยากจน ที่ผมต้องการจะตอบโจทย์ที่ว่า หากคุณเป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำกินเพียง 1 ไร่ คุณจะทำอะไรได้บ้าง?”

นักศึกษาจากสาขาวิชาต่างๆ รวมทั้งบุคคลภายนอก มาเรียนรู้การทำฟาร์มที่ 1 ไร่ไม่ยากจน

ทำแค่ 1 ไร่ แล้วทำไมต้องพ่วงเกษตรและอาหารปลอดภัย

อาจารย์ธนากร เล่าว่า ที่ตั้งใจทำฟาร์มเกษตรและอาหารปลอดภัย ก็เพราะการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือควบคุมและส่งเสริมสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

เรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรรายย่อยของไทย ซึ่งการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยหมายรวมถึงการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์และการเกษตรแบบเคมีอย่างถูกวิธี อาจารย์ธนากร สรุปไว้ว่า โครงการ 1 ไร่ไม่ยากจน ที่ผมทำจึงตั้งใจทำเพื่อตอบโจทย์ที่ว่า

  1. เกษตรกรรายย่อย หรือคนยากจนในชนบทที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน จะหาอยู่หากินทางการเกษตรได้อย่างไร
  2. เราควรจะใช้ที่ดินซึ่งมีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
  3. ผลผลิตเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยควรเป็นอย่างไร

มีอะไรใน 1 ไร่ไม่ยากจน (1. เพื่อปากท้อง)

อาจารย์ธนากร เล่าว่า กิจกรรมต่างๆ ภายในฟาร์ม 1 ไร่ไม่ยากจนนั้น ทำขึ้นเพื่อหวังผล 3 เรื่อง คือ

  1. เพื่อปากท้อง
  2. เพื่อรายได้ และ
  3. เพื่อสวยงาม ดึงดูดใจให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

รันตี ฟังแล้วก็ร้องโอ้โฮ! ในใจ ที่ดิน 1 ไร่ ทำอะไรได้ขนาดนั้นเลยหรือ อาจารย์ธนากร อธิบายต่อว่า กิจกรรมเพื่อผลข้อที่ 1. เพื่อปากท้อง ก็คือ การที่เราเลือกปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เอาไว้ใช้บริโภคเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในครอบครัว

กิจกรรมของเราก็มีการปลูกข้าวในวงบ่อซีเมนต์ เพราะพื้นที่ของฟาร์ม 1 ไร่ ตั้งอยู่บนยอดเขาหินปูนที่มีสภาพดินที่ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ เราจึงเลือกปลูกข้าวในวงบ่อซีเมนต์ที่สามารถปลูกได้ทั้งปี หมดห่วงเรื่องข้าวก็มาที่กับข้าวบ้าง

ฟาร์ม 1 ไร่ มีกิจกรรมสร้างกับข้าวหลายกิจกรรม เช่น การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย ในปริมาณไม่มาก 15-20 ตัว ซึ่งอาจารย์ธนากร เล่าว่า รายงานของต่างประเทศที่ศึกษาการเลี้ยงไก่ไข่บนกรงตับ ซึ่งไก่มีชีวิตที่แออัดในกรงแคบๆ พบว่า มีผลเสียต่อสุขภาพแม่ไก่ไข่ คือทำให้ข้อขาผิดรูป มีชีวิตที่ทรมาน

ในต่างประเทศจึงเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงไก่ไข่มาเลี้ยงไก่แบบปล่อย ไก่ได้อยู่อย่างอิสระ อารมณ์ดี ไม่กักขัง ไม่เลี้ยงหนาแน่น แม่ไก่ลดความเครียด ไข่ที่ได้จึงเป็นไข่ที่ปลอดภัยและอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร ผลผลิตไข่ที่ได้จากฟาร์ม 1 ไร่ จึงเป็นผลผลิตไข่ปลอดภัยจากแม่ไก่อารมณ์ดี

นอกจากนั้น ฟาร์ม 1 ไร่ ยังปลูกผักต่างๆ เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นผักสวนครัว แค มะกรูด มะนาว พริก กะเพรา ชะอม ตะไคร้ เห็ด ฯลฯ ที่มีให้เก็บกินได้ทั้งปี สรุปว่า อยู่ที่ฟาร์ม 1 ไร่ ไม่มีอด มีอาหารมากพอเลี้ยงคนในครอบครัว 3-4 คนได้สบายๆ นอกจากนั้นผลผลิตอะไรที่เหลือกิน ก็สามารถเอาไปขายได้ อย่างเช่น ไข่ไก่ ที่มีผลผลิตวันละ 15-20 ฟอง เหลือกินก็สามารถเอาไปขายได้

มีอะไร ใน 1 ไร่ไม่ยากจน (2. เพื่อรายได้)

เมื่อท้องอิ่มก็มีแรงพร้อมหารายได้ นี่คือ กิจกรรมหารายได้ที่ ฟาร์ม 1 ไร่ไม่ยากจนค่ะ อาจารย์ธนากร อธิบายว่า เมื่อคนในครอบครัวท้องอิ่ม แต่ลูกๆ ต้องไปโรงเรียน พ่อแม่อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย เงินสดก็มีความสำคัญไม่น้อย จึงเป็นที่มาของกิจกรรมเพื่อสร้างรายได้

กิจกรรมแรกคือ การผลิตกุหลาบตัดดอกและการผลิตหน้าวัวตัดดอกในโรงเรือน อาจารย์ธนากร มองว่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่หมายของนักเดินทางทั่วโลก ไม้ดอกจึงมีความจำเป็นสำหรับธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตต่างๆ จึงเป็นที่มาของกิจกรรมไม้ตัดดอกในโรงเรือน

นอกจากนั้น ยังมีแปลงผลิตเสาวรส แปลงหม่อนกินผล การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ อย่าง ผึ้ง และจิ้งหรีด แปลงเก็บรวบรวมพันธุ์กล้วย เก็บรวบรวมกล้วยพันธุ์ต่างๆ ไว้ เช่น กล้วยงาช้าง กล้วยน้ำไทย กล้วยสามเดือน กล้วยเทพพนม กล้วยนาก เป็นต้น

อาจารย์ธนากร แนะนำแนวคิดของท่านว่า “ผมสอนเกษตรกรที่มาดูงานที่ ฟาร์ม 1 ไร่ เสมอว่า เราจะปลูกกล้วยเพื่อขายผลไปทำไม ในเมื่อขายหน่อกล้วยพันธุ์หายากได้ในราคาหน่อละ 100-200 บาท”

กิจกรรมแปลงหญ้าอาหารสัตว์พันธุ์ดี และกิจกรรมการเลี้ยงแกะเนื้อ กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้เป็นเงินสดได้ทั้งเงินรายได้รายวันอย่างไม้ตัดดอก แมลง หน่อกล้วย รายได้รายเดือนอย่างผลผลิตกล้วย ผลผลิตแปรรูปจากหม่อน เสาวรส ผลผลิตราย 6 เดือน จากการขายแกะเนื้อ จะเห็นได้ว่าเรามีรายได้อย่างสม่ำเสมอจากพื้นที่เพียง 1 ไร่

มีอะไร ใน 1 ไร่ไม่ยากจน (3. เพื่อสวยงาม)

อาจารย์ธนากร บอกว่า อีกกิจกรรมหนึ่งที่สามารถเรียกแขก เรียกรายได้เข้าฟาร์มได้ก็คือ กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะคนในปัจจุบันโหยหาธรรมชาติกันมาก ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรจึงมาแรง และจะแรงไปอีกนาน หากเกษตรกรจับประเด็นนี้มาใช้ก็สามารถสร้างรายได้ไม่ยาก

วิธีการของอาจารย์ธนากรคือ การจัดพื้นที่ภายในฟาร์ม 1 ไร่ ให้เป็นสัดส่วน การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์จะต้องมีการวางแผนผังฟาร์มให้ดี จุดไหนจะเป็นจุดรับนักท่องเที่ยว กิจกรรมใดที่จะเหมาะสมกับพื้นที่ด้านหน้าฟาร์ม กิจกรรมใดควรขยับไปอยู่ด้านหลัง เป็นการวางผังให้ภาพรวมของฟาร์มสวยงามแปลกตา

แปลงไหนที่นักท่องเที่ยวจะเข้าชมได้ ส่วนใดที่เข้าชมไม่ได้ก็กำหนดให้ชัดเจน มีการปลูกไม้ดอกประดับแปลง จัดสวน จัดมุมเล็กๆ ไว้ให้ถ่ายภาพ เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ผู้คนสนใจแวะเวียนมาเยี่ยมชมฟาร์ม เกษตรกรก็สามารถขายผลผลิต ผลิตภัณฑ์ของฟาร์มได้อีกด้วย

นอกจากนั้น การสร้างจุดขายว่า ฟาร์ม 1 ไร่ เป็นการผลิตแบบเกษตรปลอดภัยก็เป็นอีกแนวทางที่สร้างความชัดเจนให้กับผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของฟาร์มเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังลูกค้าที่ต้องการ

ข้อคิดพิจารณาควรจะปลูกอะไร จะเลี้ยงอะไร

อาจารย์ธนากร เล่าต่อไปว่า คำถามยอดฮิตสำหรับคนที่เริ่มสนใจและอยากลงมือทำการเกษตรคือ จะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์อะไรดี โดยเฉพาะหากพื้นที่ที่จะทำการเกษตรเป็นพื้นที่เล็กๆ พื้นที่จำกัด อาจารย์ธนากร ให้คำตอบดังนี้ค่ะ การเลือกพืชที่จะปลูกจะต้องมองให้ครอบคลุมในเรื่อง

1. ตลาด ผลผลิตจากพืชที่จะปลูกจะต้องสามารถมีตลาดรองรับที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น การที่อาจารย์เลือกปลูกเสาวรส เพราะเสาวรสมีตลาดที่หลากหลายใช้กินสดเป็นผลไม้ ใช้ทำน้ำเสาวรส ทำแยม ทำไอศกรีม และใช้เป็นส่วนผสมในเค้ก คุกกี้ เยลลี่ ได้อีกด้วย หม่อนก็เช่นกันมีตลาดที่หลากหลาย กินสดก็ได้ แปรรูปเป็นน้ำ แยมมัลเบอร์รี่หรือไอศกรีมก็ได้ จึงเป็นพืชที่อาจารย์ธนากรเลือกมาปลูกในฟาร์ม 1 ไร่

2. พืชที่จะปลูกต้องดูแลรักษาง่าย ขยายพันธุ์ง่าย สามารถบังคับให้ติดดอกออกผลได้ง่าย เช่น หม่อนกินสด สามารถบังคับให้ออกดอกติดผลได้ด้วยวิธีการโน้มกิ่งหรือวิธีการตัดแต่งกิ่ง จึงสามารถบังคับให้ออกดอกติดผลได้ตามที่เราต้องการ นอกจากนั้น หม่อนยังดูแลง่าย ทนแล้ง และขยายพันธุ์ได้ง่ายอีกด้วย

3. การเลี้ยงสัตว์ ต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการให้ผลผลิต อาหารที่สัตว์กิน ขนาดตัวต่อพื้นที่ การดูแล และผลผลิตกับช่องทางการตลาด อาจารย์ธนากรเลือกจะเลี้ยงแกะเนื้อลูกผสมพันธุ์บอนด์ ซึ่งเป็นแกะสายพันธุ์ที่ให้ทั้งเนื้อและขนผสมกับแม่พันธุ์แกะพื้นเมือง เพราะลูกแกะลูกผสมที่ได้จะโตเร็ว แข็งแรง เนื้อเยอะ ขนสวย สามารถสร้างช่องทางการตลาดได้หลากหลาย

เช่น ขายเป็นลูกแกะป้อนนมให้กับรีสอร์ตต่างๆ ขายเป็นแกะเนื้อ หรือขายขนแกะก็ได้ นอกจากนั้น แกะให้ผลผลิตและผลตอบแทนเร็วกว่าการเลี้ยงวัว แกะขนาดตัวเล็ก ใช้พื้นที่น้อย เลี้ยงง่าย อายุ 6 เดือน ก็จับขายได้แล้ว แกะยังกินไม่เลือก และเหมาะกับการทำกิจกรรมเกษตรท่องเที่ยวอีกด้วย

ส่วนการเลี้ยงแมลงอย่าง จิ้งหรีด ก็เพราะเป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูง เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตและผลตอบแทนเร็ว

ส่วนการเลี้ยงผึ้ง ถือว่าเป็นผลพลอยได้ เพราะผึ้งจะช่วยในเรื่องการผสมเกสรให้พืชในฟาร์ม นอกจากนั้น ผึ้งยังเป็นตัวชี้วัดความปลอดภัยในการผลิต หากว่าเราใช้สารเคมีมากเกินไป ผึ้งอาจจะอยู่ไม่ได้ การเลี้ยงผึ้งจึงช่วยบ่งชี้เบื้องต้นว่าเราทำการเกษตรปลอดภัยจริงหรือไม่ และน้ำผึ้งก็ยังขายได้ด้วย

ไม่น่าเชื่อนะคะว่า พื้นที่แค่เพียง 1 ไร่ สามารถทำอะไรได้ตั้งมากมายขนาดนี้ ก่อนจากกันอาจารย์ธนากร ฝากข้อคิดสำคัญมาว่า “การทำการเกษตรถึงแม้ว่าพื้นที่จะเล็กแค่ไหน กิจกรรมการผลิตจะมากน้อยเท่าใด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความขยัน ความเอาใจใส่ ความอยากรู้ใฝ่เรียนรู้ของเกษตรกรเอง กิจกรรมการผลิตยิ่งมีมาก เกษตรกรยิ่งต้องขยันและใฝ่รู้มาก จึงจะประสบความสำเร็จได้”

หากใครสนใจอยากจะเข้าเยี่ยมชม ฟาร์ม 1 ไร่ไม่ยากจน หรือท่านใดอยากให้ อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย อบรมให้ความรู้เป็นหมู่คณะ ติดต่อไปได้ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี โทร. 034-585-058-75 ได้ค่ะ ฉบับนี้หมดพื้นที่รันตีลาไปก่อน สวัสดีค่ะ

…………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563