เกษตรฯยกเครื่องผู้ควบคุมร้านขายวัตถุอันตราย

กรมวิชาการเกษตรยกเครื่องผู้ควบคุมร้านขายวัตถุอันตรายทางการเกษตรกว่า 8,500 คนทั่วประเทศ ติวเข้มวิธีปฏิบัติถูกต้องปลอดภัย เน้นให้ขายอย่างมีความรู้มีจรรยาบรรณ ​ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปีนี้กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขต (สวพ.1-8) เร่งจัดฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตรให้กับเจ้าของกิจการ ผู้ควบคุมการขาย หรือลูกจ้างที่อยู่ประจำร้านขายวัตถุอันตรายทางการเกษตร เป้าหมายกว่า 8,500 คนทั่วประเทศ เพื่อให้มีความรู้ด้านวัตถุอันตรายทางการเกษตร และวิธีปฏิบัติต่อวัตถุอันตรายทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย พร้อมปลูกจิตสำนึกให้ขายวัตถุอันตรายอย่างมีความรู้และมีจรรยาบรรณ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายรวมทั้งการขายอย่างไม่ถูกต้อง และเป็นการปกป้องเกษตรกรให้ได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน นำไปใช้แล้วได้ผลคุ้มค่าการลงทุนด้วย การอบรมผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตรมี 2 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรสำหรับผู้ที่เคยผ่านการอบรมมาแล้ว 5 ปี ใช้ระยะเวลาอบรม 2 วัน เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาการทางวิชาการใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับปัจจุบัน และความรู้ทางกฎหมายสำหรับประกาศ กฎระเบียบใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง และหลักสูตรสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการอบรม ใช้เวลาอบรม 2 วัน เนื้อหาเน้นพื้นฐานทางวิชาการด้านวัตถุอันตรายทางการเกษตร การอารักขาพืช ความปลอดภัยจากการใช้ จรรยาบรรณในการค้า และความรู้ทางด้านกฎหมายที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ผู้ขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายเพื่อขาย สามารถมีใบอนุญาตประกอบกิจการด้านวัตถุอันตรายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจำหน่ายวัตถุอันตรายอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม “3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตรผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว จำนวน 24,886 คน ปัจจุบันยังมีร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายนับพันร้านค้าจากทั้งหมด 24,630 ร้าน ที่ไม่มีผู้ควบคุมการขายที่ได้รับการอบรม ทำให้ไม่มีความรู้ด้านวัตถุอันตรายทางการเกษตรและปฏิบัติต่อวัตถุอันตรายทางการเกษตรไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการบางรายขายวัตถุอันตรายแบบไร้จรรยาบรรณ หรือขายอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งแนะนำวิธีการใช้ให้เกษตรกรไม่ชัดเจนและไม่ถูกต้อง เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาผู้ควบคุมการขายที่อยู่ประจำร้านให้มีความรู้ เพื่อปลูกฝังจรรยาบรรณที่ดีให้กับร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งวิธีการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นต้นทางการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว ทั้งนี้ ปี 2560 กรมวิชาการเกษตรได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างวัตถุอันตรายในร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทุกภูมิภาค จำนวน 590 ตัวอย่าง โดยได้มีการอายัดเพื่อตรวจสอบคุณภาพเพื่อควบคุมให้ได้มาตรฐาน มีวัตถุอันตรายชนิดผงรวม 22,185 กิโลกรัม และชนิดน้ำ 22,727.6 ลิตร นอกจากนั้น สารวัตรเกษตรยังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าจับกุมดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 18 คดี รวมมูลค่ากว่า 48.26 ล้านบาท แยกเป็น คดีเกี่ยวกับวัตถุอันตราย จำนวน 7 คดี มูลค่า 1.48 ล้านบาท พร้อมยึดของกลาง จำนวน 1.17 ตัน และวัตถุอันตรายชนิดน้ำ 11,939 ลิตร และคดีเกี่ยวกับปุ๋ย 11 คดี มูลค่า 47.09 ล้านบาท ยึดของกลางเป็นปุ๋ยชนิดเม็ด ปริมาณ 2,655.8 ตัน และชนิดน้ำ 12,424.5 ลิตร