จาก ‘เมือง’ สู่ ‘ไร่สุขกลางใจ’ ขอเดินตามรอย ‘ศาสตร์พระราชา’

จากกระแสพระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ประกอบกับเมื่อปลายปี 2554 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี อุทกภัยครั้งนั้นส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งทางภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม จึงเป็นที่มาของโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” โดยมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ในการใช้แนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างยั่งยืน ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ภายใต้ชื่องาน “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” โดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ร่วมมือกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ณ ไร่สุขกลางใจ จังหวัดราชบุรี

ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เผยว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาและจัดการน้ำมานานแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังไม่สามารถกระจายน้ำไปได้ทั่วประเทศ ซึ่งตามศาสตร์พระราชาได้แนะนำให้ใช้วิถีของชาวบ้านในการแก้ปัญหาคือการทำคันนา หรือในที่นี้เรียกว่า “คันนาทองคำ” ซึ่งนอกจากจะช่วยกักเก็บน้ำแล้ว ยังสามารถปลูกพืชบนคันนานำไปเลี้ยงชีพและขายได้ ในด้านความคืบหน้าโครงการตามรอยพ่อฯ พบว่าใน 4 ปีที่ผ่านมานับแต่เริ่มโครงการ มีการตอบรับเกินความคาดหมาย และคาดการณ์ไว้ว่าในปีที่ 5-6 จะยังคงตัว แต่ในปีที่ 7-8 การตอบรับจะพุ่งพรวด ทั้งยังมุ่งหวังให้ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นเรื่องที่ใครไม่ทำจะตกเทรนด์

จากการดำเนินงานประสบความสำเร็จแล้วหลายพื้นที่ อย่าง นางกาลี ตระกูลพสุพชระ เกษตรกรชาว จังหวัดตาก ที่เป็นหนี้สินและปลูกผลผลิตไม่ได้ จนคิดฆ่าตัวตายแก้ปัญหา ทางโครงการจึงได้เข้าไปช่วยออกแบบพื้นที่ให้ จนปลดหนี้ได้สำเร็จและสามารถเพาะปลูกเลี้ยงชีพต่อได้ ชาวบ้านในพื้นที่ก็ให้ความสนใจมากขึ้น เพราะเห็นว่าการดำเนินตามศาสตร์พระราชาสามารถแก้ปัญหาได้จริงและมีความยั่งยืน

อีกหนึ่งในผู้ที่ “ศรัทธาในศาสตร์พระราชา” ที่ขอใช้ชีวิตหลังเกษียณมาตามรอยพระบาทในหลวง รัชกาลที่ 9

นายสุขะชัย ศุภศิริ เจ้าของ “ไร่สุขกลางใจ” เผยว่า เป็นครูโรงเรียนรัฐบาลใน กทม. ต้องการสานฝันของพ่อที่อยากเป็นเกษตรกร จึงเข้าร่วมงานที่ทางมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติจัดขึ้น และได้พบกับอาจารย์ยักษ์ ที่เล่าถึงศาสตร์พระราชา และได้พูดถึงพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ว่า “เริ่มเดี๋ยวนี้เลย ไม่ต้องรีบร้อน ใครไม่เข้าใจช่างเขา ค่อยๆ เดินไปทีละก้าว” เมื่อได้ฟังก็ทำให้ตัดสินใจซื้อที่ดินและเข้าร่วมโครงการตามรอยพ่อฯ เริ่มทำไร่สุขกลางใจในรูปแบบของ “โคก หนอง นา โมเดล” มุ่งหวังให้เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชาวบ้านและผู้ที่สนใจในศาสตร์ของพระราชาต่อไป

จากคนที่ไม่เคยทำการเกษตรมาเลย ความรู้ด้านนี้เท่ากับศูนย์ เมื่อต้องจับจอบถือเสียมขุดดินทำเกษตร สุขะชัย เผยว่า “ทุกอาชีพล้วนมีครู ซึ่งผมก็อาศัยการเรียนรู้จากศูนย์ความรู้ต่างๆ รวมถึงสอบถามจากเพื่อนๆ เกษตรกร แรกๆ ก็มีเหนื่อยบ้าง เพราะสภาพดินในไร่ไม่ดี ปลูกอะไรก็ตายหมด แต่ไม่ท้อและมองว่าต้นที่ตายไปคือบทเรียน ส่วนต้นที่รอดคือความหวัง จึงหันมาปลูกป่าเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ขุดบ่อน้ำ 12 ไร่ เพื่อสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้เอง และเน้นการทำนาธรรมชาติ ที่ไม่ใช้สารเคมี เพื่อพลิกผืนดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง”

ตลอด 5 ปี ที่เดินตามรอยพระราชา ไร่สุขกลางใจพัฒนาจากที่สภาพดินปลูกอะไรไม่ได้เลย ปัจจุบันไร่เขียวขจีไปด้วยต้นไม้ใหญ่และนาข้าว

Advertisement

“ผมเชื่อมั่นในศาสตร์ของพระราชา คำสอนของพระองค์ ยึดมั่นและปฏิบัติตามเสมอ” สุขะชัย กล่าว ในอนาคต สุขะชัยวางแผนไว้ว่า จะทำให้ไร่สุขกลางใจเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชา

“แม้จะเกษียณอายุจากการเป็นครูในห้องเรียน ผมก็จะขอเป็นครูนอกห้องเรียนถ่ายทอดความรู้เรื่องศาสตร์พระราชาไปตลอดชีวิต” สุขะชัย พูดทิ้งท้ายอีกหนึ่ง “ต้นแบบ” ของคนเมืองที่เดินตามรอยพระราชาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

Advertisement

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน