ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. กระเตื้องขึ้นเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังห่วงราคาสินค้าเกษตรฉุดกำลังซื้อ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนก.ย. 2560 ว่า อยู่ที่ระดับ 75 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออก และการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกันการลงทุนของภาครัฐที่กำลังจะเกิดในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นให้มากขึ้น แต่ผู้บริโภคยังกังวลราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังต่ำ ทั้ง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้กำลังซื้อในหลายจังหวัดทั่วประเทศไม่คล่องตัว

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันขายปลีก ราคาก๊าซแอลพีจีที่สูงขึ้น และการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ทำให้ราคาสินค้าบางตัว เช่น สุรา บุหรี่ สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าของแพงขึ้น แม้ภาครัฐจะดูแลควบคุมราคาสินค้าจำเป็นไม่ให้สูงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจปัจจุบันยังฟื้นตัวไม่ดี แม้จะเห็นว่าเศรษฐกิจในอนาคตอาจจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวไม่มากนัก

แต่ทั้งนี้ประเมินว่าความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 เพราะคาดว่าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐจะทำให้เกิดเงินสะพัดเดือนละกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท ช่วยพยุงเศรษฐกิจท้ายปีให้ดีขึ้น เมื่อรวมกับการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น และภาครัฐจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในกรอบ 3.7-4% จากเดิมที่ประเมินว่าน่าจะขยายตัว 3.6%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 62.5 69.8 และ 92.7 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนส.ค. 2560 ที่อยู่ในระดับ 62.4 69.7 และ 91.5 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนักการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังปรับตัวลดลง โดยอยู่ที่ระดับ 50.5 แสดงว่าผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีนัก

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยปรับตัวสู่ระดับ 85.5 ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น ในอนาคต

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์