สพฐ.แนะน้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาศึกษา-ต้นแบบสอน “แอ๊กทีฟเลิร์นนิ่ง”

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบนโยบายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 225 เขต ทั่วประเทศ และสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.นำศาสตร์ พระราชาที่เกี่ยวกับการศึกษาไปสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ สพท.และโรงเรียนพิจารณา ว่าจะนำศาสตร์พระราชาที่เกี่ยวกับการศึกษาไปปฏิบัติอย่างไร เช่น เรื่องการพัฒนาตนเองตลอดเวลา เพื่อให้ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคดิจิตอล ผ่านกระบวนการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน โดยเฉพาะการอ่านหนังสือยาวๆ ให้มีความรู้ที่ลึกซึ้ง ซึ่งสพฐ.จะจัดทำ เป้าหมายว่าในปีหน้านักเรียนแต่ละช่วงชั้น หรือแต่ละระดับชั้น ต้องอ่านหนังสืออย่างน้อยกี่เล่ม

สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะนึกไม่ถึงแต่เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติให้เราได้เห็น คือเรื่องการรับฟัง สัมผัส เห็น แล้ววิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติหรือแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นหัวใจของการจัดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติหรือ แอ๊กทีฟเลิร์นนิ่ง ที่เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ ให้เด็กได้เรียนโดยการลงมือทำได้คิด ได้สร้างสรรค์ในกระบวนการคิดของตัวเอง เป็นศาสตร์พระราชาที่ต้อง นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์นอกตำรา โดยอาจเริ่มปรับวิธีการทำกิจกรรม ในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มาเป็นแอ๊กทีฟเลิร์นนิ่งก่อนก็ได้

“ทุกสัปดาห์ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะกล่าวถึงการศึกษาในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” แสดงให้เห็นว่านายกฯ และรัฐบาลให้ความสำคัญโดยชี้ยิ่งหากดูโครงการต่างๆ จะเห็นว่า รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นแบบให้ครูสอนแบบ แอ๊กทีฟเลิร์นนิ่งได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาของเราคือ ส่วนใหญ่จะยังติดเรื่องห้องเรียนกันอยู่” นายบุญรักษ์ กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด