เร่งปรับพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ยึดเกษตรกรเป็นที่ตั้ง-ไม่เอื้อนายทุน

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ..โดยยืนยันว่า การปรับปรุงกฎหมายนี้ยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง ไม่ได้มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุน ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ

และยืนยันว่า เกษตรกรยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในฤดูต่อไปในพื้นที่ของตนเองได้โดยไม่มีโทษใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนการขยายการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์นั้น หมายถึง ขยายความคุ้มครองไปถึงเฉพาะ“ผลผลิต”หรือ“ผลิตภัณฑ์” ที่เกิดจากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยมิชอบ เท่านั้น

แต่หากส่วนขยายพันธุ์นั้นได้มาอย่างถูกต้องแล้ว ผู้ผลิตก็มีสิทธิในผลิตผลและผลิตภัณฑ์ นั้น เพื่อป้องกันเจตนาที่จะใช้ประโยชน์จากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง และมีการนำพันธุ์นั้น ไปขยายต่อโดยวิธีใดๆก็ตาม เพื่อการพาณิชย์ แล้ว เจ้าของทะเบียนคุ้มครองที่ขึ้นทะเบียนไว้ที่กรมวิชาการเกษตร เรียกร้องเพื่อการคุ้มครองสิทธิ เกษตรกรหรือผู้นำพันธุ์ไปใช้ในเชิงพณิชย์จะมีความผิดจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท

ทั้งนี้ พืชที่มีการจดทะเบียนคุ้มครองสิทธิในปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 455 ทะเบียน แบ่งเป็น จดทะเบียนโดยเอกชน 310 ทะเบียน หรือ 68% ของทะบียนทั้งหมด จดทะเบียนโดยภาคราชการ 68 ทะเบียน หรือ 15% ของทะบียนทั้งหมด จดทะเบียนโดยเกษตรกร 68 ทะเบียน หรือ 11% ของทะบียนทั้งหมด และ จดทะเบียนโดยสถาบันการศึกษา 29 ทะเบียน หรือ 6% ของทะบียนทั้งหมด

ในจำนวนนี้ มีพืชที่คนไทย รู้จักและนิยมรับประทานจำนวนมาก ทั้งพืชไร่ และพืชสวน อาทิ ผักบุ้ง มะละกอ มะเขือเทศ มะระ ข้าว เป็นต้น

“ การปรับปรุงพันธุ์พืชไม่ใช้สิ่งใหม่ เพราะทะเบียนคุ้มครองพืช กฏหมายฉบับเก่าก็มีการกำหนด แต่ตลอดเวลาเกือบ 20 ปี ไม่ได้มีการฟ้องร้อง หรือ เรียกร้องความเสียหายจากการคุ้มครองสิทธิ กรณี เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าวจะเป็นเจ้าของสิทธิ เพื่อป้องการการขโมยพันธุ์ แต่เกษตรกรสามารถใช้ได้ไม่มีปัญหา และ พืชสวน อาทิ ผักบุ้ง มะละกอ หากมีการซื้อมาเพื่อปลูกแล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อขายต่อถือว่าผิดกฏหมาย แต่ หากเก็บไว้เพื่อขยายพันธุ์และใช้ปลูกในครัวเรือนเกษตรกรไม่มีปัญหา”

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมฯกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชทางเว็บไซต์และขยายเวลาจาก 20 ตุลาคม ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560ซึ่งเป็นขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการแสดงความคิดเห็นประกอบการเสนอต่อกระทรวงและ ครม.ตามลำดับต่อไป ถือเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานต้องทำการรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ โดยปัจจุบันหลายหน่วยงานที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เปิดรับฟังความคิดเห็น ในเว็บไซต์ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การปรับแก้กฎหมายครั้งนี้เป็นการเสนอร่างพ.ร.บ. ให้สอดคล้องกับข้อมูลของอนุสัญญา UPOV1991 แต่ยังมิใช่เป็นการขอความเห็นชอบในการเป็นภาคี กรมฯขอยืนยันว่าเกษตรกรไม่ได้เสียประโยชน์ใดๆ และ ยังได้รับประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการได้รับสิทธิ์การคุ้มครองพันธุ์พืชที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้ง เป็นการเพิ่มทางเลือกและให้ความเป็นธรรมต่อเกษตรกร

กรมฯยังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น โดยที่ผ่านมา มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง ซึ่งมีทั้งเอ็นจีโอ ไบโอไทย เอกชน เข้าร่วมด้วย แน่นอนว่าการประชุมยังมีข้อถกเถียงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านความเห็นทุกฝ่ายก่อน จึงจะนำข้อสรุปมาเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯพิจารณาต่อที่ประชุมครม.เห็นชอบในหลักการ เเละส่งเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขก่อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป