กรมส่งเสริมสหกรณ์ เรียกถก18ต.ค.ก่อนใช้เกณฑ์กำกับเพิ่มเติม5ด้าน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 18 ตุลาคม กรมฯเตรียมเรียกผู้แทนจากสหกรณ์ขนาดใหญ่ มาหารือและรับฟังความคิดเห็นนัดสุดท้าย ก่อนจะประกาศใช้เกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์ยูเนี่ยน เพิ่มเติมอีก 5 ข้อ ภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2560 หลังจากที่ผ่านมายังมีข้อโต้แย้งจากสมาชิกสหกรณ์จำนวนมาก เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ทั้งระบบ ทำให้กรมฯต้องมีการนำหลักเกณฑ์ไปปรับปรุง และเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ ประกอบด้วย

1.การกำหนดอัตราส่วนหนี้สิ้นต่อหุ้นบวกทุนสำรองไม่เกิน 2 เท่า จากเดิมไม่เกิน 1.5 เท่า 2.กำหนดให้สมาชิกสามารถกู้วนซ้ำได้หลังจากผ่านมาแล้ว 1 ปี 3.กำหนดสัดส่วนการนำเงินไปลงทุนไม่เกิน 20% ของทุนตนเอง 4.กำหนดทุนสำรองของสหกรณ์ไม่ต่ำกว่า 3% จากเดิมที่กำหนดสูงถึง 6% โดยเป็นเงินสด 1% และในรูปพันธบัตร 2% 5.ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)จากเดิมต้องอยู่ในมาตรฐานของก.ล.ต.เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์กำกับฯดังกล่าวยังไม่มีการกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตฯเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครดิตบูโร เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนตามพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับปัจจุบัน ยังไม่มีอำนาจบังคับให้เข้าร่วม สหกรณ์ต้องสมัครใจเข้าร่วมเองเท่านั้น ซึ่งต้องรอพ.ร.บ.สหกรณ์ ฉบับใหม่ประกาศใช้ก่อนจึงจะมีสภาพบังคับ

ซึ่งขณะนี้พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่า จะส่งกับมายังกรมฯเพื่อทำประชาพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ภายในปลายเดือนตุลาคม–ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในเดือนธันวาคม 2560 และเสนอต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกเป็นกฎหมายบังคับต่อไป

ในส่วนความคืบหน้าของการติดตามและแก้ไขปัญหาการทุจริตและข้อบกพร่องและของสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2558 พบว่า มีสหกรณ์ทั้ง 1,228 แห่งที่เข้าข่าย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 43,566 ล้านบาท ปัจจุบันได้แก้ไขข้อบกพร่อง มียอดคงเหลือ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 ทั้งสิ้น 202 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวม 13,117 ล้านบาท แบ่งเป็น การทุจริต 52 แห่ง มูลค่ารวม 555 ล้านบาท ประกอบด้วย การทุจริตเงินกู้ 11 แห่ง ทุจริตเงินสด 19 แห่ง ทุจริตเงินฝาก 6 แห่ง ทุจริตการรวบรวมผลผลิต 3 แห่ง ทุจริตน้ำมัน 5 แห่ง และทุจริตเงินยืมทดลอง 3 แห่ง กรมฯตั้งเป้าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคมนี้