คาดบัตรคนจนดันมูลค่า ศก. 1.1 แสนล้าน ภาคเกษตรได้อานิสงส์กว่า 2.1 หมื่นล้าน แนะรัฐทบทวนสิทธิคลุมแรงงานอายุ 15

สศก.เผยผลศึกษา “บัตรคนจน” ของ ม.เกษตรฯ คาดจะสร้างมูลค่าทาง ศก.ของประเทศกว่าแสนล้าน ขณะที่ภาคเกษตรได้รับประโยชน์คิดเป็นมูลค่าทาง ศก.ถึง 2.1 หมื่นล้าน แนะรัฐพัฒนาทักษะทำงานและให้ทบทวนสิทธิแรงงานอายุ 15 ด้วย

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ( KOFC) ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงการประชารัฐสวัสดิการ 46,000 ล้านบาท ตามรายชื่อผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 11,431,681 คน ในจำนวนนี้เป็น เกษตรกรจำนวน 3,322,214 คน หรือประมาณ 30%  ซึ่งจากวิเคราะห์ด้านการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางภาพรวม คาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 118,077.82 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาผลกระทบในภาคเกษตรจำนวน 3.32 ล้านคน ใช้งบประมาณ 13,368.59 ล้านบาท จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาคเกษตร 21,215.50 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ 21,134.27 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมูลค่า 70.73 ล้านบาท และส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม มูลค่า 10.50 ล้านบาท

นายวิณะโรจน์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตามรายสาขา พบว่าสาขาการผลิตที่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การทำนา มูลค่า 8,542.02 ล้านบาท การเลี้ยงสัตว์ปีก มูลค่า 2,753.76 ล้านบาท การเลี้ยงสุกร มูลค่า2,270.93 ล้านบาท การทำไร่พืชตระกูลถั่ว มูลค่า 1,235.53 ล้านบาท และการปศุสัตว์ มูลค่า 1,177.83 ล้านบาท และมองว่าโครงการนี้เกิดประโยชน์ต่อภาคการเกษตร แต่ภาครัฐควรเน้นการแก้ปัญหาไปที่การพัฒนาความรู้ทักษะการประกอบอาชีพที่มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เป็นการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืนแทน เพราะไม่เช่นนั้นโครงการนี้อาจจะสร้างภาระด้านงบประมาณของภาครัฐจำนวนมหาศาล และเห็นว่าในระยะต่อไปควรปรับแนวคิดจากรัฐสวัสดิการให้เป็นการพัฒนาทักษะเพื่อพัฒนาอาชีพ เน้นให้ผู้เดือดร้อนที่มีศักยภาพอยู่สามารถพัฒนาตนเองให้พึ่งตนเองได้ หรือกลับเข้าไปแข่งขันในตลาดแรงงานได้อย่างสมบูรณ์ ควรเพิ่มมาตรการตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มงวด และต้องกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่แจ้งข้อมูลเท็จ

นายกัมปนาท เพ็ญสุภา ผู้อำนวยศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เงื่อนไขของโครงการประชารัฐสวัสดิการ กำหนดให้สิทธิกับผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้ใช้แรงงานที่กำหนดอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในต่างจังหวัด คนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิได้เข้าร่วมและต้องหางานทำ ในขณะที่ผู้มีอายุ 18 ปี ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ผู้ปกครองมีรายได้ ทำให้การช่วยเหลือของโครงการนี้ไม่ตรงกับเป้าหมาย ดังนั้น รัฐบาลควรทบทวนกรณีนี้และควรพิจารณาไปถึงรายได้ของผู้ปกครองด้วย นอกจากนี้ เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีความชัดเจนว่ามีรายได้น้อยที่สุดในประเทศแต่มีสัดส่วนผู้ลงทะเบียนในโครงการนี้เพียง 30% เท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลไม่สะดวกที่จะเข้ามาลงทะเบียนหรือไม่ทราบข่าวสารเนื่องจากการประชาสัมพันธ์โครงการนี้ผ่านระบบโซเชียลมีเดีย ผู้ที่เข้าถึงส่วนใหญ่จึงเป็นนักศึกษาและผู้ที่อยู่ในเขตเมือง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560