“ศูนย์เอราวัณ” แนะเตรียมตัว ก่อนเข้าร่วมงานพระราชพิธี

ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ)  สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ห่วงใยสุขภาพประชาชนที่จะหลั่งไหลเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในช่วงวันที่ 25-29 ตุลาคมนี้ จึงมีข้อแนะนำสำหรับการเตรียมพร้อมร่างกาย ดังนี้

1. ก่อนเข้าร่วมพระราชพิธีต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ขับถ่ายให้เรียบร้อย รับประทานอาหารเช้า แต่งกายสีสุภาพ สีไว้ทุกข์ พกของจำเป็น เช่น น้ำดื่ม ยาดม ยารักษาโรค โดยศึกษาเส้นทาง กำหนดการ กฎระเบียบในการปฏิบัติต่างๆ รวมถึงสำรวมกิริยาวาจาใจให้สุภาพเรียบร้อย

2. สิ่งของที่ควรเตรียม ได้แก่ ร่ม เสื้อกันฝน ยารักษาโรคประจำตัว ยาดม อาหารเล็กน้อยพกพาง่าย เช่น ขนมปัง น้ำดื่ม ฯลฯ และให้พกบัตรประชาชนติดตัวไว้ตลอด สำหรับเด็กให้จดเบอร์โทรศัพท์ผูู้ปกครองติดตัว ส่วนผู้สูงอายุควรมีเอกสารที่มีชื่อและที่อยู่ติดตัวไว้ และผู้ป่วยให้เขียนชื่อ โรคประจำตัว และพกยารักษาโรคประจำตัว

3. หากต้องยืน เดินนานๆ วิธีการป้องกันอาการปวดเมื่อยเท้าเบื้องต้น คือ ให้สวมรองเท้าพื้นนิ่มและหลวมเล็กน้อย พักจากการยืนบ่อยๆ ควรยืนสลับนั่ง และย่ำเท้าบ้างเมื่อรู้สึกเมื่อย

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับประชาชนเพื่อให้ช่วยเหลือบุคคลรอบข้างได้อย่างทันท่วงที โดยอาการเจ็บป่วยที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ – เป็นลม เป็นภาวะไม่รู้สึกตัวเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดขึ้นได้ทั้งตอนนั่งหรือยืน และเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อยู่ในฝูงชนแออัด อยู่ท่ามกลางอากาศร้อน เสียเหงื่อ ขาดน้ำ นอนดึก หิวข้าว อ่อนเพลีย โดยภาวะหมดสติจากการเป็นลมจะเกิดเพียง 1-2 นาที เมื่อพบเห็นคนเป็นลมให้ปฏิบัติโดย 1. ให้ผู้ป่วยนอนราบในที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก หันศีรษะไปด้านข้าง 2. ยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ ประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น 3. คลายเสื้อผ้าให้หลวม จากนั้นใช้ผ้าเย็นเช็ดตามใบหน้า ลำคอ แขนและขา 5. ให้ผู้ป่วยดมแอมโมเนีย

– แผลถลอก บาดแผลที่เกิดจากการขีดข่วน ถูกถูหรือครูด บาดแผลจะตื้นเพียงแค่ผิวหนังชั้นนอกและมีเลือดออกเล็กน้อย โดยพบบ่อยจากการหกล้ม ทำให้แขน ข้อศอก และเข่าถลอก ให้รีบปฐมพยาบาลลดการเจ็บปวดและป้องกันการติดเชื้อ วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ 1. ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่เพื่อล้างเศษดิน เศษฝุ่นออกจากบาดแผล 2. ใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือด เช็ดแอลกอฮอล์รอบบาดแผล 3. ใส่ยารักษาแผลสด ทาเบาๆ บริเวณรอบบาดแผล 4. อย่าให้บาดแผลโดนน้ำ และ 5.เมื่อแผลแห้งห้ามแกะ หรือเกาสะเก็ดแผลโดยเด็ดขาด

– เลือดกำเดาไหล พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัยแต่จะพบสูงในเด็ก ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การระคายเคืองหรือบาดเจ็บต่อเยื่อบุจมูก การอักเสบจากการติดเชื้อในช่องจมูก เป็นหวัด คัดจมูก สั่งน้ำมูก สภาพอากาศที่หนาวเย็นและเกิดจากการกระแทกกระเทือน หากประสบอาการดังกล่าว 1. ให้ผู้ป่วยนั่งหลังตรง ก้มหน้าเล็กน้อย ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบ (กด) ปีกจมูกทั้งสองข้าง เข้าหากันในแนวกลางประมาณ 5-10 นาที แล้วคลายออก และทำซ้ำอีกครั้ง 2. สามารถประคบบริเวณจมูกและแก้มด้วยผ้าเย็นหรือน้ำแข็งก็ได้ 3. หลีกเลี่ยงการแคะจมูก การสั่งน้ำมูกแรงๆ และการยกของหนัก

4. หากเลือดยังไม่หยุดไหลและไหลในปริมาณมาก ให้รีบแจ้งหน่วยแพทย์บริการในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อนำส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669 ศูนย์เอราวัณ กทม. ตลอด 24 ชั่วโมง

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน