ย้ำ กศน.ยึดพอเพียง-ลดเหลื่อมล้ำ อุ้มเด็กชายแดนใต้เข้าศึกษา-อ่านเขียนไทยได้

พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ว่า จากการที่รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงาน กศน.ดูแลการยกระดับคุณภาพและส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในพื้นที่พิเศษ 3 พื้นที่ ได้แก่ 1. พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนชายขอบทั้งที่เป็นพื้นที่สูงและพื้นที่เกาะแก่ง ชายฝั่งทะเล และ 3. พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

สิ่งสำคัญที่ กศน.ต้องดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม คือ 1. การฝึกอาชีพให้แก่ประชาชนและการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่ หรือ อีอีซี โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ในการพัฒนาหลักสูตร 2. การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล 3. การจัดการศึกษาให้กลุ่มเป้าหมายเด็กตกหล่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
4. การจัดการศึกษาให้แก่ผู้ไม่รู้หนังสือ โดยให้สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลผู้ไม่รู้หนังสือให้ความสอดคล้องกับข้อมูลอัตราการรู้หนังสือในสำมะโนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง และดำเนินการสอนภาษาไทยให้แก่ผู้ไม่รู้หนังสือภาษาไทย พูดไม่ได้ เขียนไม่ได้ หรือกลุ่มคนที่ใช้ได้แต่ไม่คล่อง เพื่อให้สามารถใช้ภาษาไทยในการดำรงชีวิตประจำวัน และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ และ 5. ให้เพิ่มจำนวนอาสาสมัครประจำสถาบันศึกษาปอเนาะ จาก 1 คน ต่อ 1 ปอเนาะ เป็น 2 คน ต่อ 1 ปอเนาะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคในด้านโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้จัดทำรายละเอียดเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด