นโยบายระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพของบริษัทไทย

ปัจจุบันเรื่องของการใช้ยาต้านจุลชีพทั้งในคนและสัตว์กำลังเป็นที่สนใจของทั่วโลก ด้วยตระหนักดีว่าหากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม อาจนำไปสู่ปัญหาการดื้อยาซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรโลก นี่จึงเป็นปัญหาระดับโลกที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญยิ่ง สำหรับบ้านเรา ภาครัฐก็เดินหน้าในเรื่องนี้อย่างเข้มแข็งจริงจัง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาควิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยมี “แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564” ออกมา ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติในการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของไทย ซึ่งมีเป้าหมายลดการใช้ยาและควบคุมป้องกันเชื้อดื้อยาทั้งในคนและในสัตว์

แผนนี้กําหนดเป้าประสงค์ที่ต้องการบรรลุภายในปี 2564 ไว้ 5 ประการ คือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลง ร้อยละ 50 การใช้ยาต้านจุลชีพสําหรับมนุษย์และสัตว์ลดลง ร้อยละ 20 และ 30 ตามลําดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลในส่วนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสัตว์ ซึ่งได้แก่กรมปศุสัตว์ นับว่ามีบทบาทสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ของชาติในเรื่องนี้ก็มีการควบคุมการใช้ยาในสัตว์อย่างต่อเนื่อง พัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ คุณภาพยา อาหารสัตว์และวัคซีน เพื่อให้สัตว์ปลอดโรค มีการควบคุมป้องกันเชื้อดื้อยาและสารตกค้าง โดยมีหน่วยงานและคณะกรรมการที่เฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ สำหรับภาคธุรกิจผู้ผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์อันดับต้นๆ ของโลกอย่างซีพีเอฟ ซึ่งให้ความสำคัญในประเด็นความปลอดภัยทางอาหารมาโดยตลอด ตามวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ที่จะต้องผลิตอาหารป้อนประชากรโลกกว่า 3,000 ล้านคน โดยมีโครงการนำร่องในการลดใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเป็นรูปธรรม มาตั้งแต่ปี 2543 ที่สำคัญคือเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่วยจะได้ไม่ต้องรักษา ซึ่งช่วยให้กระบวนการลดการใช้ยาเป็นไปได้ด้วยดี

เมื่อปี 2559 ซีพีเอฟได้เข้าร่วมงานสัมมนา One Health Summit จัดโดยสหประชาชาติ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่าด้วยเรื่องสุขภาพหนึ่งเดียว ครอบคลุมการผลิตอาหารปลอดภัยและความร่วมมือในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวทั้งคนและสัตว์ และซีพีเอฟได้ร่วมลงนามข้อตกลง One Health Summit Priorities เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม เพื่อแสดงจุดยืนถึงการให้ความสำคัญต่อการผลิตอาหารปลอดภัย และในปีนี้ 2560 ซีพีเอฟได้ประกาศนโยบาย “วิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในกระบวนการผลิตอาหารของซีพีเอฟทั่วโลกครอบคลุมทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นจริงจังให้ประชาคมโลกได้รับทราบเจตนารมณ์หลายคนอาจสงสัยความแตกต่างของคำว่า “ยาปฏิชีวนะ” กับคำว่า “ยาต้านจุลชีพ” จึงขออธิบายโดยย่อดังนี้ “ยาปฏิชีวนะ” (Antibiotics) หมายถึง สารที่สร้างขึ้นและแยกได้จากเชื้อจุลชีพชนิดหนึ่ง และออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต หรือทำลายเชื้อจุลชีพอีกกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นสารกึ่งสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ยับยั้ง/ทำลายเชื้อแบคทีเรีย “ยาต้านจุลชีพ” (Antimicrobial agents) หมายถึง ยาที่มีผลยับยั้งหรือทำลายเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และพยาธิ ซึ่งครอบคลุมยาปฏิชีวนะด้วย เปรียบเหมือนยาปฏิชีวนะเป็นเพียงหมวดหนึ่งของยาต้านจุลชีพนั่นเอง ทั้งนี้ บริษัทได้จัดลำดับความสำคัญของนโยบายด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ อาทิ 1. ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์ และใช้เพื่อการรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น 2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านจุลชีพประเภทที่ใช้ทั้งในคนและสัตว์ (share-class antimicrobials) และใช้เมื่อจำเป็นอย่างระมัดระวัง โดยจะเลือกใช้ยาสำหรับสัตว์เป็นลำดับแรก 3. ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าในการดูแลสัตว์ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) อันจะเป็นการลดความจำเป็นในการใช้ยาต้านจุลชีพ เป็นต้น โดยบริษัทจะทำงานตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารโปรตีนทั่วโลก และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปกป้องสุขภาพของคน สัตว์ และสังคมโลก อย่างเหมาะสม ตามหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) ทั้งหมดนี้เป็นบทบาทที่ภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ สอดคล้องกับกระแสโลก…การขับเคลื่อนนโยบายเช่นนี้ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เมื่อได้เห็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็งเช่นนี้ เชื่อเหลือเกินว่าประเทศของเราจะเดินไปสู่ความสำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของชาติอย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก สพญ. บุญญิตา รุจฑิฆัมพร

รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)