อียูจี้ไทยเร่งรัดบังคับคดีตามกฎหมาย-ไฟเขียวทำประมงนอกน่านน้ำไทย ม.ค.61

แหล่งข่าวจากกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการประมงและทะเล (DG-MARE) จากสหภาพยุโรป (อียู) เดินมาทางมาตรวจการนำเข้าสัตว์น้ำผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยู เรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับไทยเมื่อวันที่ 7-15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยอียูต้องการให้ไทยเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 และเร่งรัดการดำเนินคดีให้มากขึ้น รวมทั้งชี้แจงข้อมูลเรื่องกลุ่มเรือเล็กที่ถูกทำลายหรือจม ให้ชัดเจนว่าปัจจุบันมีอยู่จำนวนเท่าไหร่ และเร่งพัฒนาระบบไอทีในระบบศูนย์เฝ้าระวังการทำประมง (FMC)

ทางอียูขอให้ไทยสรุปข้อมูลทั้งหมดส่งกลับไปให้ผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการประมงพิจารณาในเดือนวันที่ 5 ธันวาคม 2560 ก่อนคณะผู้แทนจากประเทศไทยจะเดินทางไปหารือในวันที่ 18-19 ธันวาคม 2560 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

สำหรับเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย อียูขอให้ไทยกำหนดกระบวนการพิจารณามาตรทางการปกครอง และระยะเวลาในการพิจารณาที่ชัดเจน เนื่องจากอียูเห็นว่าจำนวนคดีและความสำเร็จของการตัดสินใจคดีที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายในกลุ่มเรือประมงนอกน่านน้ำของไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งความสำเร็จของการตัดสินคดีที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นสิ่งชี้ถึงความสำเร็จของการดำเนินการมาตรการควบคุมและป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายของไทย

อียูขอให้ไทยเร่งรัดการดำเนินคดีดังกล่าวให้สิ้นสุดโดยเร็ว เพื่ออนุญาตให้เรือประมงของไทยออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำได้ โดยอียูสนใจการบังคับใช้กฎหมายว่าควรมีการบังคับใช้กฎหมายในทุกๆ ด้าน มีความชัดเจน และมีจำนวนคดีที่มากขึ้น

ทั้งนี้ในเรื่องการควบคุมการทำประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำของเรือไทย ทางอียูเห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการทำประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำของเรือไทย โดยเฉพาะการควบคุมการทำประมงและการขนถ่ายสัตว์น้ำ ในเรือขนถ่ายในน่านน้ำที่ต่ำกว่า 30 ตันกรอส ที่ไม่ต้องติดตั้งระบบการติดตามเรือประมง(VMS)

ซึ่งอียูมั่นใจว่าไทยจะสามารถควบคุมเรือประมงไทยที่จะออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำได้ จึงเสนอให้ไทยอนุญาตเรือประมงไทยออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำได้ในเดือนมกราคม 2561 จากเดิมระงับการทำประมงนอกน่านน้ำและกำหนดให้เรือสามารถออกไปขนถ่ายสัตว์น้ำเพียงอย่างเดียว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ขณะที่เรื่องกองเรือประมง ทางอียูต้องการทราบความชัดเจนของเรือที่อยู่ในสถานะกลุ่มเรือที่ถูกทำลายหรือจมที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานได้ 80-90% ส่วนเรือที่มีขนาดเล็กสามารถตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานได้เพียง 30-50% โดยต้องจัดทำข้อมูลสถานะที่ชัดเจนของเรือกลุ่มนี้ได้ในเดือนธันวาคม 2560 โดยร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตามเรือที่มีข้อมูลไม่ชัดเจน และรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด อาทิ ข้อมูลของผู้รับซื้อเรือ ข้อมูลเรือประมงที่ถูกกักกันอยู่ต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ในการติดตามความคืบหน้าคดีจากศูนย์เฝ้าระวังการทำประมง และการประเมินความเสี่ยง ไทยจะต้องพัฒนาระบบไอทีที่ใช้เพื่อสนับสนุนการติดตาม ควบคุม และการเฝ้าระวังการทำประมง โดยควรพัฒนาระบบสมุดบันทึกทำการประมงอิเล็คทรอนิกส์ (E-logbook) สำหรับเรือประมงในน่านน้ำไทย และการปรับปรุงวิธีการประเมินความเสี่ยงให้มีความซับซ้อนน้อยลง เพื่อให้สามารถนำผลจากการประเมินความสี่ยงนั้นไปใช้ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังได้อย่างรวดเร็วภายใน 3 เดือน