ธีรยุทธ บุญมี ชี้เกษตรไทยย่ำอยู่กับที่ วิพากษ์ไทยแลนด์ 4.0 แค่หวังผลการเมือง

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสานเครือข่ายวัฒนธรรมข้าวใหม่ กล่าวในงานเสวนา “มองการณ์ไกลประเทศไทย ทิศทางเกษตรยั่งยืน” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่าภาคการเกษตรของไทยถือว่ามีพัฒนาการมาโดยตลอด หากแบ่งเป็นช่วงตามนโยบายของไทยแลนด์ 4.0 ภาคเกษตรของไทยในยุค 1.0 เริ่มต้นในยุครัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 จากการผลิตสินค้าข้วา จนเกือบอีก 100 ปีต่อมา ประมาณปี 2500 ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภาคเกษตรถึงขยับเป็นยุค 2.0 เริ่มมีการปลูกพืชเพื่ออุตสาหกรรม อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปอ และยางพารา รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม เริ่มต้นจากผลิตสิ่งทอและสินค้าทดแทนนำเข้า จนถึงปัจจุบันพบว่า ภาคเกษตรไทยยังไม่สามารถก้าวพ้นจากยุค 2.0 ไปสู่ยุค 3.0 ได้ อาจเป็นบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากเกษตรกรไทยติดปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยีจากแรงงานวัยหนุ่มสาวลดลง เหลือแต่แรงงานสูงวัย ไม่ชำนาญการใช้เทคโนโลยี ภาคสหกรณ์ไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ เหมือนประเทศในยุโรป

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ยุคหลังปี 2540 ภาคเกษตรของไทยจึงมีนโยบายแยก 2 ทาง คือ 1. นโยบายประชานิยม เน้นสร้างความนิยมไม่ได้ มุ่งสู่การยกระดับคุณภาพภาคการเกษตร เห็นเด่นชัดในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จนถึงปัจจุบัน แม้แต่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นโยบายแบบนี้ยังคงอยู่ และ 2. นโยบายแบบเศรษฐกิจพอเพียง ถือว่าสอดคล้องกับปัจจุบันอย่างมาก แทนที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็หันมาปลูกพืชหลากหลาย เห็นได้ว่าราคาสินค้าเกษตรรูปแบบนี้นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรมีฐานะดีขึ้น ดังนั้น ทางออกของภาคเกษตรไทย จึงไม่ใช่ก้าวสู่ 4.0 ซึ่งเปรียบเหมือนกับการหวังผลสำเร็จของรัฐบาลชุดนี้ ทางออกที่ดีที่สุดของภาคเกษตรคือตามรอยทางเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนโยบายภาคการเกษตรของรัฐบาลชุดนี้แล้ว อย่างการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยยกเว้นกฎหมายเกือบทุกตัว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ เหมือนเป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นอวิชา ที่หวังเพียงความสำเร็จทางการเมือง โดยไม่คำนึงให้รอบคอย มุ่งหวังเพียงความสำเร็จเพียงอย่างเดียว

นายปรีดา เตียสุวรรณ ที่ปรึกษา เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า ทางรอดของภาคเกษตรขณะนี้ไม่ใช่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ทางออกคือ ทำเกษตรประณีต สามารถขายได้ในราคาสูงกว่าพืชทั่วไปในท้องตลาด โดยทำเกษตรประณีตประมาณ 2 ไร่ ต่อ 1 ราย จะทำให้พื้นที่เกษตรประณีตเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านไร่ น่าจะช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน