วท.ตะลุยจังหวัดภาคใต้ ต่อยอดงานวิจัย-นวัตกรรม พัฒนาเศรฐกิจในภูมิภาค

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาพื้นที่ภาคใต้” ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อต่อยอดงานวิจัยโครงการต่างๆ ของ วท.พร้อมช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพพื้นที่ภาคใต้ บูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ขับเคลื่อนพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน

รศ.นพ. สรนิต กล่าวว่า ภาคใต้มีลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่น วัฒนธรรมหลากหลาย มีความท้าทายต่อโจทย์การวิจัยพัฒนาพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมา

วท.ได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ครอบคลุมในหลายพื้นที่ทั้งภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย อันดามัน หรือชายแดนใต้ และยิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเชิงพื้นที่ การทำงานของ วท.ก็จะเพิ่มความเข้มข้นและพร้อมจะบูรณาการกับทุกหน่วยงานในภูมิภาค

รศ.นพ. สรนิต กล่าวต่อไปว่า โครงการและมาตรการสำคัญที่ได้ดำเนินการพื้นที่ในภาคใต้มีหลากหลายโครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) ระยะที่ 2 เวลา 10 ปี เพื่อบ่มเพาะนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การก่อสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นหอดูดาวแห่งแรกในภาคใต้ จะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วัตถุท้องฟ้า สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สนับสนุนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ของนักเรียนนักศึกษา, โครงการสตาร์ตอัพ เพื่อพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม, โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน คลินิกเทคโนโลยี เป็นกลไกความร่วมมือระหว่าง วท.กับสถาบันการศึกษา การพัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์สนับสนุนภาคเกษตร เช่น การพัฒนาระบบการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน หรือการพัฒนาชุดตรวจปริมาณน้ำมันของปาล์มน้ำมันทะลาย เป็นต้น

นอกจากนี้ วท.ยังมีกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการในรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โครงการไอแทป (iTAP) และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ตั้งเป้าผลักดันผู้ประกอบการ 100 ราย ในปีแรก วงเงิน 200 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบาทการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโลยีลงสู่ภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน