10 อาชีพ “STEM” สานฝันศึกษาต่อในอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่า “STEM” เป็นส่วนสำคัญในการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ บนโลกใบนี้ เห็นได้จากการเกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ดังนั้น การส่งเสริมให้ได้เรียนรู้ในศาสตร์ที่จำเป็นต่อมวลมนุษยชาติ และแนะแนวให้ตรงกับความถนัดตั้งแต่วัยเด็ก จึงเป็นตัวช่วยที่ดีตั้งแต่ระดับต้นน้ำ

แต่กระนั้น คงไม่มีใครให้ความรู้เกี่ยวกับสายงาน STEM ได้ดีเท่ากับผู้ที่คลุกคลีอยู่ในอาชีพนั้น จึงทำให้เกิด โครงการ Enjoy Science Career โดย บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ด้วยการแนะนำ 10 อาชีพ ที่ใช้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จัดทำเป็นชุดนิทรรศการผ่านพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค

“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่านิทรรศการ “Enjoy Science Career : สนุกกับอาชีพวิทย์” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Enjoy Science Career : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ

“โครงการนี้เป็นแนวทางที่ภาครัฐร่วมมือกับเอกชน เพื่อมุ่งเน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็มครอบคลุมทั่วประเทศ จนเกิดแรงบันดาลใจในการเลือกเส้นทางศึกษาต่อในอนาคตต่อไป”

“ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ของโครงการ เรามีการคัดเลือก 10 อาชีพใหม่ เช่น นักวิจัยวัสดุนาโน, ผู้ดูแลสมรรถภาพนักกีฬา, วิศวกรระบบราง, เกษตรยุคใหม่ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นต้น เพื่อเน้นอาชีพที่สามารถประกอบอาชีพในวงกว้าง ทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งกลุ่มผู้เรียนทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ โดยได้มีการเชิญบุคคลต้นแบบอาชีพวิทย์ จาก 3 อาชีพมาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้อง ๆ ด้วย”

โดยบุคคลแรกคือ “สิริวิมล ชื่นบาน” ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า สายอาชีพนี้มีความท้าทายตลอดเวลา เนื่องจากต้องเป็นทั้งครูที่สอนเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เป็นนักกฎหมายที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ เป็นนักขายเมื่อต้องนำอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยใหม่ๆ ไปนำเสนอให้แก่สถานประกอบการ แต่หลักๆ คือการทำงานเพื่อให้ผู้ร่วมงานปลอดภัย ทั้งในระดับองค์กร และระดับชุมชน

“รศ.ดร.ปันรสี ฤทธิประวัติ” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บุคคลต้นแบบวิศวกรหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า ในอดีตเรื่องหุ่นยนต์ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่เพียงไม่กี่ปีหุ่นยนต์กำลังจะกลายเป็นสิ่งธรรมดาที่จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งในรูปแบบหุ่นยนต์การแพทย์ หุ่นยนต์ที่ใช้เพื่อการเรียนการสอน ซึ่งต่อไปจะมีบทบาทมากขึ้นอย่างแน่นอน

“ดังนั้น การพัฒนาหุ่นยนต์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนา แน่นอนว่าต้องอาศัยองค์ความรู้หลักคือด้านคอมพิวเตอร์ ด้านเครื่องยนต์กลไก และด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งล้วนมีพื้นฐานจากการเรียนสะเต็มทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน จะมีการข้ามศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงไปยังสายงานอื่นๆ เช่น ด้านศิลปะ ดีไซน์ เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปลักษณ์ และการใช้งานไปพร้อมๆ กัน”

“พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์” เกษตรกรยุคใหม่กล่าวว่า ผมเกิดมาในยุคที่ครอบครัวมองว่าการเรียนด้านเกษตรมีอนาคตที่ลำบาก แต่ผมกลับมองเห็นความยั่งยืนของอาชีพนี้ หากสามารถพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน

“การมีความรู้พื้นฐาน การวิเคราะห์ดินจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เกษตรกรต้องรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับพืชผลที่ลงทุนไป รวมไปถึงในอนาคตที่เกษตรกรไทยจะต้องค้าขายกับต่างประเทศ จึงยิ่งต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรมากขึ้น และจะต้องอาศัยความรู้ทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก”

ฉะนั้น จึงต้องยอมรับว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่วิชาอีกต่อไปแต่หากเป็นพื้นฐานของการนำไปสู่อาชีพในอนาคตด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2560 – วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม 2560