“ยุ่น”จ่อริบใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า เจอเร่ขายอื้อหวั่นเอกชนไทยโดนหางเลข

ญี่ปุ่นไล่เช็กบิลผู้ถือใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แต่ไม่ทำจริง ลุ้นนักลงทุนไทยเจอปัญหาหรือไม่ ด้านบีพีซีจีบอกเจอปัญหาสายส่งเต็มจ่อขายทิ้ง 40 MW หากต้องรอสายส่งนาน เผยเทรนด์ใหม่ตั้งแผงโซลาร์กระจายจุดเล็ก ๆ ลดข้อจำกัดเรื่องที่ดิน

ภายหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าส่งเสริมพลังงานทดแทนโดยวางเป้าหมายที่ 50,000 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวและสึนามิ ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังเจอปัญหาเหมือนกับประเทศไทยคือ การเร่ขายใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และเตรียมมาตรการสำหรับโครงการที่ไม่คืบหน้า

ทั้งนี้มีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนได้พัฒนาโครงการและผลิตไฟฟ้าเข้าระบบบ้างแล้ว แต่อาจจะมีหลายโครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการพัฒนา และอาจมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้นักลงทุนที่เข้าไปพัฒนาโรงไฟฟ้ายังต้องเผชิญปัญหา คือ การหาพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ “ยากขึ้น” เพราะพื้นที่ราบสำหรับวางแผงโซลาร์เซลล์ในขณะนี้เหลือน้อยมาก ซึ่งในกรณีที่พื้นที่ราบสลับกับภูเขาก็มีต้นทุนค่อนข้างสูง หากมีการปรับลดค่าไฟฟ้าลงอีก ยิ่งต้องบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ญี่ปุ่นเริ่มเช็กบิลโครงการที่ไม่เดินหน้าสำหรับโครงการโซลาร์เซลล์ สถานการณ์ก็คล้าย ๆ กับไทย ความจริงขั้นตอนก่อนที่จะได้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าของญี่ปุ่นก็ไม่ต่างจากไทยมาก ที่สำคัญอาจจะใช้เวลาน้อยกว่าด้วย ก็เริ่มตั้งแต่การขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การขออนุญาตใช้สายส่ง และหลังจากนั้นจึงจะได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ส่วนประเด็นที่จะมีการปรับลดค่าไฟฟ้าในทุกปี ส่วนใหญ่นักลงทุนไทยรู้ข้อมูลเหล่านี้ และหาวิธีการลดต้นทุนแต่ต้องให้ได้มาตรฐานเหมือนเดิม เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายทางธุรกิจ”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนเข้าระบบ 34,000 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนนี้เป็นกำลังผลิตจากนักลงทุนไทยเพียง 2,100 เมกะวัตต์เท่านั้น และยังไม่มีรายงานว่ามีโครงการของนักลงทุนไทยได้รับผลกระทบหรือไม่ในขณะนี้ แต่ในเบื้องต้นพบว่าเกือบทุกรายยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างเตรียมพัฒนา เท่ากับว่าช่วงนี้จะต้องเร่งทำโครงการเพื่อให้เห็นว่ามีการดำเนินการต่อเนื่อง

ด้านนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีพีซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับโครงการในญี่ปุ่นที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว ได้เริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว แต่จะมีโครงการทางพื้นที่ตอนใต้ของญี่ปุ่น กำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากภาครัฐว่าสายส่งจะพร้อมรับกำลังผลิตใหม่หรือไม่ ซึ่งหากต้องรอความพร้อมสายส่งมากกว่า 5 ปี ก็อาจจะขายโครงการดังกล่าวให้กับผู้สนใจ สำหรับประเด็นการหาที่ดินราบลุ่มเพื่อวางแผงโซลาร์เซลล์ที่ยากขึ้นนั้น ขณะนี้นักลงทุนของญี่ปุ่นได้ใช้วิธีวางแผงแบบกระจายจุดเล็ก ๆ ตามพื้นที่ลุ่มต่าง ๆ และที่สำคัญสามารถเชื่อมโยงกับระบบสายส่งได้ทันที แต่สำหรับบีพีซีจีคงไม่ใช้วิธีนี้และเลือกที่จะพัฒนาโครงการใหญ่ไปเลยทีเดียว ซึ่งในแง่การใช้เงินลงทุนไม่แตกต่างกันมาก

รายงานเพิ่มเติมระบุว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยเข้าไปพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่น เช่น บริษัท บีพีซีจี จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เสริมสร้าง เพาเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยโซลาร์ เอ็นเนอจี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE, บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

Advertisement

ที่มา ประชาชาติ