“สรรพากร” จ่อลงดาบธุรกิจแยกบัญชี

ขู่ถ้าดื้อเข้าข่ายผิด กม.ฟอกเงินต้องปิดกิจการ

ลุ้นปี ’61 กม.ค้าออนไลน์บังคับใช้ต้องเสียภาษี

สรรพากรสรุปภาษีออนไลน์แยก กม. 3 ฉบับ คือไม่ยกเว้นภาษีสินค้าที่ส่งทาง ปณ.มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท นิติบุคคลต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่เกิน 15% ต้องเสียแวต ลุ้น กม.บังคับใช้ปีหน้า ขู่เอกชนไม่ทำบัญชีเดียวระวังถูกฟ้องปิดกิจการฐานฟอกเงิน

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในเดือนธันวาคมนี้จะเปิดประชาพิจารณ์การเก็บภาษีการค้าออนไลน์ หรืออีบิสซิเนส เป็นรอบสุดท้ายหลังจากมีการเปิดประชาพิจารณ์รอบแรกไปแล้ว ซึ่งสรรพากรกำลังแก้ไขตามข้อเสนอแนะดังกล่าว หลังจากนั้นนำขึ้นเว็บไซต์ของกรม และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบถามความเห็นอีกรอบ หลังจากนั้นจะสรุปและเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำเสนอการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ให้สามารถเก็บภาษีจากค้าออนไลน์ได้ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยคาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในปี 2561 ทั้งนี้ร่าง กม.ล่าสุดได้แยกออกเป็น 3 ฉบับคือ 1. ไม่ยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าที่ส่งทางไปรษณีย์มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จากเดิมได้รับการยกเว้น 2. ส่วนนิติบุคคลนั้นให้ยึดตามธุรกรรมที่เกิดขึ้นในไทย หากมีการซื้อขายในไทย ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินใดต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่เกิน 15% เป็นอัตราสูงสุด แต่ในการเก็บภาษีต้องแยกตามประเภทของกิจการอีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานในไทย 3. ผู้ค้าออนไลน์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ด้วย เพราะขณะนี้ส่วนใหญ่ไม่เสียแวต

“มูลค่าการค้าออนไลน์ปัจจุบันมีมูลค่านับแสนล้านบาท เท่าที่หารือกับผู้ค้าออนไลน์รายใหญ่ ยินดีจะเสียภาษีดังกล่าว แต่มีรายเล็กที่ยังไม่ต้องการเสียภาษี ยอมรับว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวช้าไปกว่าเดิมมาก เพราะต้องเปิดประชาพิจารณ์ตามมาตรา 77 ตามรัฐธรรมนูญ และมีการแสดงความคิดเห็นเข้ามากันมาก” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน กรมสรรพากรมีการสัมมนาสำนักงานบัญชี ทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงประเด็นความเสี่ยงทางภาษีอากร และความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ลูกค้า โดยต้องการให้สำนักงานบัญชีเสนอแนะลูกค้ากลุ่มธุรกิจทำบัญชีให้ถูกต้องเป็นบัญชีเดียว เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ในการยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารต้องใช้บัญชีงบดุลที่ยื่นเสียภาษีกับกรมสรรพากร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้นการทำบัญชีเดียวต้องเริ่มตั้งแต่ปีปฏิทิน 2561

นายประสงค์กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าเอสเอ็มอีถึงเกณฑ์เสียภาษีกว่า 3 แสนราย มีการทำบัญชีเดียวอย่างถูกต้องเพียง 50% ที่เหลือยังทำไม่ถูกต้อง โดยกรมสรรพากรจะเริ่มเอาจริงด้วยการเชิญกลุ่มที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้องมาคุยในเดือนธันวาคมนี้ เช่น ในกลุ่มร้านทองกว่า 7 พันแห่ง ยังไม่ยอมจดทะเบียนนิติบุคคลอีกว่า 1 พันแห่ง

“เราจะเชิญผู้ประกอบการที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนบัญชีเดียวมาพูดคุย โดยให้เลือกว่าจะลงนรก หรือขึ้นสวรรค์ เพราะสรรพากรมีข้อมูลการเสียภาษี และการทำบัญชีในมือในบริษัทต่างๆ หมดแล้ว หากยังไม่ปรับเปลี่ยนอาจต้องปิดกิจการ เพราะถูกดำเนินคดี เพราะการเสียภาษีไม่ถูกต้องอาจจะเข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โทษรุนแรงมาก และสำนักงานบัญชีมีส่วนสมรู้ร่วมคิด อาจต้องโดนคดีอาญาไปด้วย” นายประสงค์กล่าว และว่า กรมให้เวลาสำนักงานบัญชีและบริษัทเอกชนปรับตัวมานาน 2 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2558 หลังจากนี้ไปคงต้องเข้มงวดมากขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2560