‘ท้ายทุ่ง’ รวมกลุ่มเพาะเห็ดฟาง สร้างรายได้เสริมหลังหมดฤดูทำนา

หลังจากเผชิญปัญหาราคาข้าว และสภาพอากาศแปรปรวนส่งผลกระทบต่อวิถีเกษตรกรรม ทำให้ชาวบ้านตำบลท้ายทุ่ง อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก หันมาประกอบอาชีพเสริมหลังหมดฤดูกาลทำนา โดยรวมกลุ่มกันเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มในโรงเรือนเพื่อสร้างรายได้ โดยมี “สุชีพ หอมจันทร์” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลท้ายทุ่ง เป็นประธานกลุ่ม

สุชีพ หอมจันทร์ เล่าว่า ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา แต่ที่ผ่านมาพบว่า บางครั้งราคาข้าวไม่ดีนัก ทำ ให้มีแนวคิดว่าควรหาอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้หลังเสร็จสิ้นฤดูกาลทำนา โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง จึงร่วมกลุ่มชาวบ้านที่สนใจ ทดลองเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มในโรงเรือน โดยมีเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดพิจิตรให้การสนับสนุน ปรากฏว่า ทดลองครั้งแรกประสบความสำเร็จ ชาวบ้านได้ผลผลิตเห็ดสดไปบริโภค ทั้งยังนำไปขายสร้างรายได้เสริม

“ขั้นตอนการปลูกเห็ดฟาง เริ่มจากการสร้างโรงเรือนขนาด 4 x 8 เมตร 2 โรง โดยใช้ทะลายปาล์มเป็นวัสดุในการเพาะเห็ด ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของทะลายปาล์มเมื่อนำมาเพาะเห็ดฟางจะทำให้เห็ดมีดอกใหญ่ กรอบ รสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด และมีผลผลิตสูงกว่าการใช้วัสดุอื่น ทั้งนี้ จะนำทะลายปาล์มมาแช่น้ำ 7 วัน โดยผสมกากน้ำตาล น้ำหมัก EM และโรยปูนขาว เมื่อครบ 7 วันแล้วนำมาหมักแห้งต่ออีก 7 วัน เพื่อเลี้ยงราขาว จากนั้น จึงนำเข้าโรงเรือน โรยปูนขาว และรำอ่อน เลี้ยงไว้ 3 วัน อบด้วยไอน้ำที่อุณภูมิ 70 องศาเซลเซียส ในวันรุ่งขึ้นจึงโรยเชื้อเห็ดฟางแล้วรดน้ำ ก่อนปิดโรงเรือนไว้ 4 คืน เพื่อให้ใยเห็ดเดิน กระทั่งในวันที่ 5 จะเปิดระบายอากาศ ตัดใยด้วยการพ่นสเปรย์หมอก และปิดโรงเรือนไว้ จากนั้น ในวันที่ 6 จะเปิดโรงเรือนเพื่อระบายอากาศ ในช่วงนี้จะสังเกตเห็นเห็ดขึ้นตุ่มดอก ให้รอจนดอกเห็ดโตได้ขนาดตามที่ตลาดต้อง ก็สามารถเก็บเห็ดได้ โดยเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเห็ด คือ ช่วงเวลา 02.00-03.00 น. เห็ดจะสด สวยที่สุด ซึ่งเก็บได้อย่างเนื่องอีก 7 วัน ใน 1 โรงเรือนสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 20-30 กิโลกรัม ต่อวัน เก็บผลผลิตได้ประมาณ 100-120 กิโลกรัม ต่อรุ่น แต่ละรุ่นเกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้ 7 วัน นำไปขายส่งในราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท หรือ ขายปลีกกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าตลาดในชุมชนมารับซื้อถึงที่ ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้จากการเพาะเห็ด 8,000-11,000 บาท ต่อโรงเรือน หรือไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ต่อเดือน เฉลี่ยคนละไม่ต่ำว่า 2,500-3,000 บาท”

“ผู้ใหญ่สุชีพ” กล่าวทิ้งท้ายว่า การเพาะเห็ดฟางสามารถสร้างรายได้เสริมเกษตรกรในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา แม้รายได้ไม่สูงมาก แต่สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง และถือเป็นการพึ่งพากันอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเปิดให้ผู้สนใจสั่งซื้อเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม หรือ องค์ความรู้การเพาะเห็ดจากทลายปาล์ม สามารถติดต่อได้ที่ โทร. (091) 837-9414 พร้อมแบ่งปันความรู้และแนวทางสร้างรายได้อย่างเต็มที่

ขอบคุณข้อมูลจาก พรพรรณ วิจิตรวิทยาพงศ์