พาณิชย์แจงมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มมีปริมาณมากในขณะนี้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากผลผลิตปาล์มน้ำมัน ปี 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดว่าจะมีปริมาณ 13.50 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 คิดเป็น ร้อยละ 18.21 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของทั้งเนื้อที่ให้ผลและผลผลิตต่อไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนมากขึ้น เกษตรกรดูแลดีใส่ปุ๋ยมากขึ้น โดยปัจจุบัน (ณ วันที่ 4 ธ.ค.60) ราคาผลปาล์มน้ำมัน (18%) กก.ละ 3.20 – 3.60 บาท และน้ำมันปาล์มดิบ กก.ละ 19.00 – 19.25 บาท ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบมาเลเซีย (1 ธ.ค.60) กก.ละ 19.99 บาท ราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มลดลงนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มคงเหลือที่มีปริมาณมากในขณะนี้ โดยคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ได้ประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 และมีมติให้เร่งรัดการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อรักษาสมดุลปริมาณน้ำมันปาล์มในประเทศโดยแต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนการส่งออกน้ำมันปาล์ม มีหน้าที่กำหนดมาตรการเร่งหาตลาดในการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือกรมธุรกิจพลังงาน ประสานผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ให้สำรองไบโอดีเซล (B100) เพิ่มขึ้นซึ่งสำรองตามกฎหมาย (ร้อยละ 1) อยู่ที่ 14.339 ล้านลิตร เป็น 120 ล้านลิตร และในสัปดาห์นี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด เพื่อเร่งรัดการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ และจะเชิญผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อพิจารณาอุปสงค์และอุปทานผลผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์ม และปริมาณความเหมาะสมของการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งจะส่งผลทำให้ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือในตลาดลดน้อยลง การซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบและผลปาล์มน้ำมันจะคล่องตัวขึ้น

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกระแสข่าวที่กล่าวว่ามีการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองจากประเทศบราซิลและประเทศสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษี เพื่อนำมาสกัดน้ำมันแข่งกับน้ำมันปาล์มนั้น กระทรวงพาณิชย์ขอชี้แจงว่าการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองจากประเทศบราซิลและประเทศสหรัฐฯ นั้น ในปี 2560 ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองเพียงเล็กน้อย ส่วนเมล็ดถั่วเหลืองมีการนำเข้ามาใช้ผลิตอาหารสัตว์และแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหลัก สำหรับการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองในปี 2560 (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560) มีจำนวน 2.158 ล้านตัน เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันกับปี 2559 ปรากฏว่าลดลงร้อยละ 2.17

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์