อีอีซีดันลงทุนอุตฯ ปี’61 พุ่งพรวด จีน-ญี่ปุ่นสนตั้งเขตกำจัดกาก กรอ.แนะกฎหมายต้องชัดเจน

กรอ.คาดปีหน้ามูลค่าลงทุนภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ปัจจัยหลักมาจากโครงการอีอีซี มีข้อแม้กฎหมายจะต้องชัดเจนเพื่อดึงดูดนักลงทุน แย้มจีนและญี่ปุ่นสนตั้งเขตกำจัดกากอุตฯรองรับโรงงานพาเหรดเข้าพื้นที่ในช่วง 5 ปีมูลค่าลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท เผยยอด ร.ง.4 ช่วง 11 เดือนแตะ 4.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.94%

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป คาดว่าการลงทุนของประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะมูลค่าลงทุนของภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ต่อปี จากปัจจุบันยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) อยู่ประมาณ 5-6 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10% ต่อปี โดยการเติบโตดังกล่าวมีปัจจัยหลักมาจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความชัดเจนของร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ที่นักลงทุนกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จากการหารือกับนักลงทุนหลายรายแสดงความเห็นว่าหากกฎหมายมีความชัดเจนก็พร้อมลงทุนทันที

นายมงคล กล่าวว่า นอกจากการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรมประเทศตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติจากจีน และญี่ปุ่น สนใจเข้ามาลงทุนตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมด้านการกำจัดกากอุตสาหกรรม โดยการลงทุนน่าจะมีนักลงทุนรายใหญ่ของไทยที่เชี่ยวชาญด้านการกำจัดกากร่วมลงทุนด้วย เพื่อเป็นการรองรับกากอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมาก เพราะในช่วง 5 ปี (2560-2564) รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้มีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

นายมงคล กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และขยายกิจการในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2560) มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 4,708 โรงงาน ลดลง 0.50% จากช่วงเดียวกันในปี 2559 ที่มีอยู่ 4,732 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 4.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.94% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่อยู่ที่ 4.16 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 3,864 โรงงาน ลดลง 1.72% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 3,932 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 2.95 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.14% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2.54 แสนล้านบาท ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 844 โรงงาน เพิ่มขึ้น 5.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 800 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 1.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.55% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 1.61 แสนล้านบาท

“การขอใบอนุญาต ร.ง.4 และขยายกิจการช่วง 11 เดือน พบว่าเป็นการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) จำนวน 1,364 โรงงาน เงินลงทุน 1.51 แสนล้านบาท” นายมงคล กล่าว

นายมงคล กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุด ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2560 ได้แก่ อุตฯอาหาร 4.73 หมื่นล้านบาท ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 4.7 หมื่นล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 3.62 หมื่นล้านบาท อุตฯผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 2.42 หมื่นล้านบาท อุตฯแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 2.26 หมื่นล้านบาท

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน