กรมหม่อนไหมส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมสำหรับผู้ชรา ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นางสุดารัตน์  วัชรคุปต์  เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม  กล่าวว่า   จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคน สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาผู้สูงอายุหรือผู้พิการให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม มีคุณภาพ มีคุณค่า สามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลง และเป็นพลังในการพัฒนาสังคม  โดยส่งเสริมการสร้างรายได้และการมีงานทำในผู้ชรา ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ควบคู่กับ การเพิ่มพูนความรู้ เพื่อการประกอบอาชีพและการพัฒนาตัวเอง

กรมหม่อนไหม เห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ชรา  ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส และเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  จึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมสำหรับผู้ชรา ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส” ขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และส่งเสริมให้ผู้ชรา ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ได้มีงานทำ สามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหม่อนไหมให้คงอยู่ต่อไป  โดยปัจจุบันการผลิตไหมหัตถกรรมจะเป็นการผลิตในระดับครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่สืบทอดอาชีพและสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน จากบรรพบุรุษ

ทั้งนี้ กรมหม่อนไหม จึงได้เริ่มดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมสำหรับผู้ชราและผู้พิการ ตั้งแต่ปี 2560 โดยจัดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านหม่อนไหม (การแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม/การทำสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม) ให้แก่ผู้ชราและผู้พิการ จำนวน  93 ราย  ใน  8 แห่ง  ได้แก่ 1) โรงเรียนโสตศึกษา อ.เมือง จ.ขอนแก่น  2) โรงเรียน โสตศึกษา อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด  3)บ้านโคกสูง ต.นาข่า อ.วาปีปทุม  จ.มหาสารคาม  4)ศูนย์พัฒนาอาชีพ อ.ปักธงชัย                    จ.นครราชสีมา 5) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ ต.ตลาดน้อย อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี   6) อบต.โคกสะอาด ต.โคกสะอาด อ.ปราสาท จ.สุรินทร์  7) ศูนย์การศึกษาพิเศษ  ประจำจังหวัดศรีสะเกษ  และ 8) กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านหัวดง ต.เปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ โดยผู้ที่เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ตนเองและครอบครัว

สำหรับในปี 2561 กรมหม่อนไหมจะได้ดำเนินงานโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดจัดหลักสูตรในการอบรม 2 หลักสูตร คือ  1)หลักสูตร การออกแบบและทอผ้าไหม สำหรับผู้ด้อยโอกาสในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่  เรือนจำชั่วคราวดอยรอง  จ.เชียงใหม่  เรือนจำชั่วคราวแคน้อย จ.เพชรบูรณ์  เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จ.ตราด  เรือนจำชั่วคราวเขาพลอง จ.ชัยนาท  เรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน จ.สุรินทร์   และ 2) หลักสูตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม สำหรับผู้ชราและผู้พิการ  โดยมีเป้าหมายอบรมให้แก่ผู้ชรา ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส รวม 260 ราย นอกจากนี้ในปี 2561 กรมหม่อนไหม ยังเตรียมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุ  กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนอาชีพแก่ผู้สูงอายุด้วย  ทั้งนี้  คาดว่าจากการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพแก่ผู้ชรา ผู้พิการ  และผู้ด้อยโอกาส นอกจากเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังคาดหวังให้มีการนำความรู้และประสบการณ์ของผู้ชรา ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ที่เป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นด้วย