เผยแพร่ |
---|
จากปัญหาราคาผลผลิตข้าวตกต่ำส่งผลกระทบกับชาวนาทั่วประเทศ ต้องดิ้นรนหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงชีพและครอบครัว โดยเฉพาะชาวนาตัวอย่างจาก จังหวัดกาฬสินธุ์ และ จังหวัดนครราชสีมา พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเปลี่ยนจากทำนาหันมาสร้างฟาร์มเพาะพันธุ์หนูนาขาย ลงทุนน้อย แต่ให้ผลคุ้มค่า มีลูกค้าจากทั่วภาคอีสานสั่งซื้อตลอดปี ด้วยหนูนายังเป็นเมนูฮิตติดตลาดที่นิยมรับประทาน ปรากฏว่าสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี
รายแรก ชาญชัย ภูทองกลม ชาวนาบ้านเหล่า ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มทุน จึงลดพื้นที่ทำนามาสร้างโรงเรือนเลี้ยงหนูนาและปลูกผักสวนครัวเป็นอาหารเสริมให้หนูนา เนื่องจากหนูนาเป็นอาหารยอดนิยมของชาวอีสาน มักนำมาประกอบอาหารในฤดูหนาว เนื่องจากมีเนื้อนุ่ม เหนียว ติดมัน ทำอาหารได้หลายเมนู บางคนเชื่อว่าการเปิบหนูนาในฤดูหนาวช่วยให้ร่างกายอบอุ่น“เมื่อเนื้อหนูนาเป็นที่นิยมบริโภค ทำให้หนูนาตามธรรมชาติหายากมากขึ้น จึงทดลองเลี้ยงหนูนาจำหน่าย โดยใช้ภูมิปัญญาใช้กับดักหาจับเองบ้าง รับซื้อจากชาวบ้านบ้าง ตัวใหญ่จำหน่ายตัวละ 80-100 บาท หากจับได้ตัวเล็กจะนำมาขุนให้โตก่อนจำหน่าย โดยทำคอกเป็นพื้นคอนกรีต ก่ออิฐ มุงตาข่ายและสังกะสี วางท่อซีเมนต์และพีวีซี เป็นรังและที่หลบซ่อนตัว ป้องกันขุดรูหนี ขุนด้วยอาหารหมู เสริมด้วยข้าวเปลือก ข้าวโพด หญ้า หัวมันสำปะหลัง ปรากฏว่ามีลูกค้าสั่งซื้อจำนวนมากทั้งใกล้และไกล โดยเฉพาะในฤดูแล้งจะขายดีมากจนไม่เพียงพอส่งขาย“จากนั้นจึงเกิดไอเดียเพาะพันธุ์หนูนาขาย โดยขยายโรงเรือนเป็นฟาร์มเลี้ยงหนูนา เพื่อขุนหนูนาจำหน่ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งเพิ่มมูลค่า เพิ่มประชากรหนูนาได้หลายเท่าทวีคูณ ขายในราคาคู่ละ 500 บาท หากชาวบ้านหาหนูนามาขายให้ จะรับซื้อคู่ละ 100 บาทมาขุนต่อ ธุรกิจนี้ใช้ต้นทุนต่ำแต่จำหน่ายตลอดปี มีลูกค้าทั่วภาคอีสานและบางจังหวัดแถบภาคกลาง ซึ่งการเลี้ยงในฟาร์มให้รสชาติไม่ต่างจากหนูนาธรรมชาติ เพราะจะเพิ่มความมันของเนื้อหนูด้วยอาหารหมู หัวมันสำปะหลัง ซึ่งการบริหารจัดการในฟาร์มอย่างดี การันตีว่าไม่มีพยาธิ ไม่มีโรคติดต่อ จึงมีนักเปิบหนูนา ผู้ต้องการทำฟาร์มเลี้ยงหนูนา และกลุ่มวิสาหกิจฯติดต่อซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท”ส่วนฟาร์มเลี้ยงหนูนา “มีตังค์ฟาร์ม” ที่บ้านกุดปลาเข็ง หมู่ 1 ตำบลโนนท่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ของ เพชรรัตน์ ฉัตรสูงเนิน ได้รับความนิยมจากนักเปิบไม่ต่างกัน“เพชรรัตน์” เล่าว่า ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนาเป็นหลัก ในอดีตตามไร่นาจะมีหนูนา หนูพุกอาศัยจำนวนมาก ชาวบ้านมักนิยมนำมาทำอาหาร ช่วงที่มีหนูนามากจะเป็นช่วงเกี่ยวข้าว เพราะหนูนาจะออกมากัดกินข้าวที่กำลังสุก แต่ปัจจุบันจากการใช้สารเคมี ทำให้หนูนาตามธรรมชาติลดลง จึงคิดไอเดียเลี้ยงหนูนาขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และสั่งซื้อพ่อแม่พันธุ์จากชาวบ้านที่จับได้มาทดลองเพาะเลี้ยง เป็นหนูพุก ซึ่งเป็นหนูนาพันธุ์ใหญ่ เหมาะกับการเลี้ยงเพื่อรับประทานเนื้อ ในช่วงแรกสามารถขยายพันธุ์หนูนาได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีหนูนาที่เพาะเลี้ยงกว่า 1,000 ตัว มีการสั่งซื้อมากจนเพาะขายแทบไม่ทัน “การเลี้ยงหนูนาจะใช้บ่อซีเมนต์ทรงกลม กว้าง 80 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร มาต่อกัน 2 บ่อ พร้อมนำฝาปูนปิดก้นบ่อซีเมนต์ไม่ให้หนูขุดดินหนี จากนั้นนำอิฐบล็อกมาวางเรียงเป็นช่องสำหรับให้หนูหลบ ใส่ฟางหรือหญ้า ให้หนูสามารถทำรังซุกนอน มีภาชนะใส่น้ำ อาหาร 1 ชุด ราดจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงลงบนพื้นเพื่อให้จุลินทรีย์กินของเน่าเสียเพื่อกำจัดกลิ่นแบบธรรมชาติ แล้วนำกระเบื้องเจาะให้มีช่องอากาศระบายมาปิดด้านบน จากนั้นปล่อยพ่อแม่พันธุ์หนูนา อายุ 4 เดือน ลงไป 1 คู่ ให้อาหารเป็นข้าวเปลือก วันละ 1-2 ขีด สามารถใส่อาหารอื่นเพิ่มได้ เช่น ข้าวโพด รำ แกลบ กล้วย และมันสำปะหลัง เลี้ยงจนอายุประมาณ 3 เดือนครึ่ง-4 เดือน หนูจะโตเต็มที่มีน้ำหนักตัว 5-6 ขีด พร้อมจับขายได้ “การเลี้ยงหนูนา 1 ตัว มีค่าใช้จ่ายประมาณ 50 บาท หากขายเนื้อ ในภาคอีสานราคากิโลกรัมละ 200-250 บาท ส่วนพ่อแม่พันธุ์ขายได้คู่ละ 800 บาท ถือว่าได้กำไรสูงมาก เนื่องจากความต้องการตลาดสูงมาก โดยเฉพาะร้านอาหารป่าและกลุ่มผู้ชื่นชอบรับประทาน แต่ฟาร์มเพาะพันธุ์หนูนามีน้อย ทำให้เพาะพันธุ์ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ตอนนี้จะขายเป็นพ่อแม่พันธุ์เป็นหลัก รวมทั้งได้ร่วมกับศูนย์เรียนรู้เกษตรรุ่นใหม่ “ไร่อรหันต์” อำเภอสูงเนิน จัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงหนูนา มีนายปา ไชยปัญหา ปราชญ์ชาวบ้านมาฝึกอบรมให้ชาวบ้านฟรี”นับเป็นทางเลือกใหม่ของชาวนาที่พลิกสถานการณ์จากวิกฤตรายได้ มาจับอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เลี้ยงชีพได้ไม่แพ้อาชีพทำนา ทั้งยังเป็นแบบอย่างที่สร้างกำลังใจให้ชาวนาที่กำลังท้อถอยได้ลุกขึ้นสู้ต่อขอบคุณข้อมูลจาก ชมพิศ ปิ่นเมือง ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ