กทม.-มจท.ผุดไอเดียเด็ด ถ่านไฟฉายทิ้งแล้วมาสกัดสารแม่เหล็ก ทำทางเดินให้คนตาบอด

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่สำนักงานเขตตลิ่งชัน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายประชา พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยมีผศ.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. สร้างนวัตกรรมจากถ่านอัลคาไลน์เก่า สู่ทางเดินแม่เหล็กสำหรับผู้พิการทางสายตา ตามนโยบายของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.มอบหมายให้ทุกเขตคิดค้นนวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

นายประชา กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา เพื่อลดปริมาณขยะอันตราย โดยการนำถ่านไฟฉายเก่ากลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานเขตได้ตั้งกล่องรับบริจาคถ่านเก่า และได้นำไปมอบให้มจธ.เพื่อคัดแยกเอาสารแม่เหล็กมาเป็นส่วนประกอบในการทำทางเดินแม่เหล็กสำหรับผู้พิการ ซึ่งจะเริ่มนำร่องที่สำนักงานเขตตลิ่ง ก่อนขยายโครงการไปยังสถานที่สำคัญอื่น อาทิ ศาลาว่าการกทม. เป็นต้น

ผศ.ธิดารัตน์ กล่าวว่า จากสถิติการใช้ถ่านอัลคาไลน์หรือถ่านไฟฉายของคนไทยพบมีปริมาณการใช้ถึง 3,400 ตันต่อปี โดยเฉลี่ย 1 คนใช้ถ่านปีละ 4 ก้อน ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาด 4,500 ล้านบาทต่อปี เมื่อใช้เสร็จจะนำไปฝังกลบรวมกับขยะชนิดอื่น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อมีปริมาณสะสมมาก มจธ.จึงทำการศึกษาวิจัยอิฐทางเดินแม่เหล็กไฟฟ้าและไม้นำทางสำหรับผู้พิการทางสายตา ด้วยการนำผงถ่านอัลคาไลน์ที่ใช้แล้วมาสังเคราะห์เอาสารแม่เหล็ก หรือ เฟอร์โรแมกเนติก จากนั้นพบว่า ถ่านขนาด 2 เอ จำนวน 100 ก้อน จะได้สารแม่เหล็ก 1 กิโลกรัม

“เมื่อนำมาสังเคราะห์และผสมกับสีแล้วฉาบเป็นทางเดินแม่เหล็ก จะช่วยให้ผู้พิการที่ใช้ไม้นำทางติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสนามแม่เหล็ก มีสัญญาณเสียงและสั่น เพื่อนำทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบัน มจธ.ได้ทดลองติดตั้งทางเดินแม่เหล็กที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ และจะมีการศึกษาพัฒนาให้มีประสิทธิภาพต่อไป” ผศ.ธิดารัตน์ กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์