‘ถาวร’ชงหากดันราคายางถึง 60 บาท/กก.ไม่ได้ ให้ประกาศเป็นสินค้าควบคุมเพื่อกำหนดราคา

วันที่ 28 ธันวาคม นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และแกนนำ กปปส. โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, พี่น้องชาวสวนยางผู้มีอาชีพเกี่ยวกับสวนยางพาราทุกท่าน

ราคายางพาราตกต่ำเป็นเหตุให้พี่น้องเกษตรกรและผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันแก้ไข ขณะนี้ผมเห็นว่ารัฐมนตรีทั้ง 2 ท่านเดินมาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่ทันอกทันใจพี่น้องเกษตรกร เพราะราคายางพาราตกต่ำมาร่วม 4 ปีแล้ว ขณะนี้เรามีความหวังกับมาตรการต่าง ๆ ดังนั้น ผมขอทำความเข้าใจและสนับสนุนต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ดังต่อไปนี้

(1) สภาพปัญหาและข้อเท็จจริง

การเกิดวิกฤติการณ์ราคายางตกต่ำส่งผลกระทบต่อรายได้ในการครองชีพพื้นฐานของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมาต่อเนื่อง นอกเหนือจากปัญหาความเป็นไปของพลวัตในสถานการณ์โลกทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศราคาน้ำมันและสถานการณ์อื่นๆ ของโลกที่มากระทบต่อราคายางตามที่นักวิชาการมักจะอ้างถึงแล้วนั้นยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายในประเทศซึ่งสามารถแก้ไขได้ ในเรื่องเหล่านี้

1.1 ความเชื่อมั่นต่อนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายาง

1.1.1 ขาดความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ
ความไม่จริงจังและขาดความร่วมมือในการนำนโยบายไปปฏิบัติจริงของหน่วยงานภาครัฐ ก่อให้เกิดความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ทำให้เกิดวิกฤติทางด้านความเชื่อมั่นต่อนโยบายรัฐบาลมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำยางพาราไปใช้ในโครงการต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ การเชื่อมต่อนโยบายเพื่อแก้ปัญหาด้านการดูดซับยางออกจากระบบซึ่งดูอืดอาดยืดยาดไปหมด

1.1.2 การมองข้ามองค์กรแก้ไขปัญหายางพารา
จะเห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤติทางด้านราคายางถึงขั้นพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อนรายได้ไม่เพียงพอกับการครองชีพระดับพื้นฐาน ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบทยอยกันให้ข่าวรายวันสะเปะสะปะขาดความเชื่อมโยงกับข้อมูลข้อเท็จจริงและขาดความเป็นเอกภาพ ไม่พยายามที่จะใช้เวทีของการการประชุมมาแก้ปัญหาในขณะที่มีคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ กนย.ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเกี่ยวกับยางพาราอย่างครบครันอยู่แล้วทิ้งระยะเวลาปรึกษาหารือยาวนานเกินไป ถึง 8 เดือนเศษคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) ประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 และครั้งสุดท้ายเป็นครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560

1.1.3 ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาความเชื่อมั่นต่อนโยบายไปทุกภาคส่วนทั้งพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการ ผู้ใช้ยางธรรมชาติทั้งภายในและต่างประเทศ

(2) การดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางของรัฐบาล

2.1 การอนุมัติแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางของคณะรัฐมนตรี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเสนอมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อคราวประชุมในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 19 ธันวาคม 2560 และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบและเห็นชอบ

สรุปมติการประชุมของคณะการนโยบายยางธรรมชาติดังกล่าวเกี่ยวกับโครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (15,000ล้านบาท)และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรแปรรูปยางพารา (5,000ล้านบาท) รวมทั้งเห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวมยาง (10,000 ล้านบาท) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาว (ยางแห้ง) 20,000 ล้านบาทโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ (12,000 ล้านบาท) นอกจากนี้จะลดปริมาณผลผลิตของภาครัฐที่มีสวนยาง 1.21 แสนไร่ ทั้งในส่วนของกรมวิชาการเกษตร กยท. และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ใช้งบกลาง 303 ล้านบาท โครงการควบคุมปริมาณผลผลิตและการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง ตามที่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ รวมวงเงินที่รัฐบาลสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางประมาณ 62,000 ล้านบาท

และทราบว่าขณะนี้หน่วยงานภาครัฐกำลังดำเนินการแปลงนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวมากำหนดแนวทางการปฏิบัติอยู่อย่างเข้มข้นในทุกมาตรการ เพื่อสนองแนวทางการแก้ไขราคายางพาราให้กับพี่เกษตรกรชาวสวนยางพารา

2.2 การเรียกคืนศรัทธา
ขณะนี้ทราบว่านายกรัฐมนตรีทราบถึงปัญหาเรื่องการนำนโยบายไปปฏิบัติแล้ว ถึงขั้นปรับเปลี่ยนตัวบุคคลรับผิดชอบใน ครม. และกำชับเด็ดขาดถึงขั้นประกาศ ม.44 ออกมาช่วยแก้ไขปัญหาที่ติดขัดอยู่ จนทำให้ทุกฝ่ายเคลื่อนไหวสนองรับนโยบายกันอย่างเต็มที่จนรู้สึกได้ถึงความตั้งใจได้มากขึ้นขณะนี้

2.3 ด้านราคายาง

โครงสร้างราคายางที่ผิดเพี้ยนไปก่อนหน้านี้ค่อยๆปรับไปในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้นทั้งราคา เศษยาง น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง แม้จะไม่มากแต่มีแนวโน้มทีดีขึ้น

2.4 เกิดวัฒนธรรมใหม่ต่อการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสินค้าทางการเกษตรของหน่วยงานภาครัฐ

(3) ข้อเสนอแนะ

3.1 สมควรตั้งคณะกรรมการติดตามโครงสร้างราคายางและราคายาง (rubber price monitoring committee ) มีหน้าที่คอยสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวราคาและติดตามโครงสร้างราคายางที่อาจจะมีความผิดปกติ หาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขเสนอรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นต้นให้รีบเข้าไปแก้ไขทันทีตามความรุนแรงของปัญหา

3.2 คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย. )

3.2.1 ควรใช้เวทีของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย. )ให้เป็นประโยชน์ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพราะเวทีนี้เป็นที่รวมของผู้เกี่ยวข้องด้านยางพาราทุกภาคส่วนจริงๆอาจปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมสรรหาบุคคลผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราและหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาเสริม อาทิ มหาดไทย ตำรวจ และกระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น

3.2.2 เพิ่มความถี่ในการประชุมให้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างน้อยควรให้มีการประชุมทุกๆ 2 เดือน

3.2.3 ควรให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการถาวร ไม่ใช่ปรับเปลี่ยนไปตามวาระของรัฐบาลมีบ้างไม่มีบ้างมาตลอด ควรมีกฎหมายมารองรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเอาใจใส่อย่างจริงจังต่ออาชีพยางพาราไทย

3.3 ควรเข้าดำเนินการดูดซับเศษยาง ซึ่งเป็นยางส่วนมากของประเทศที่เป็นวัตถุดิบผลิตยางแท่งออกจากระบบโดยการยางแห่งประเทศไทยตามบทบาทหน้าที่โดยตรงในกิจกรรมปกติของ กยท. ทันทีเพื่อดึงราคาเศษยางขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องต่อยางชนิดอื่นๆด้วยอย่างอัตโนมัติ

3.4 ด้านความร่วมมือกับภาคียางของสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ซึ่งมีไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ในมาตรการแก้ปัญหาที่กำลังดำเนินการอยู่

3.4.1 การควบคุมปริมาณการส่งออก(AETS )ที่ตกลงกันล่าสุดเมื่อ 22 ธันวาคม 2560 จำนวน 350,000 ตัน ภายในสามเดือน ในส่วนของไทยที่รับผิดชอบ 2 แสนตันเศษควรรีบดำเนินการให้เป็นรูปธรรมแล้วแจ้งให้สาธารณชนทราบเพื่อให้เกิดผลทางด้านจิตวิทยาต่อราคายาง

3.4.2 การประกาศหยุดกรีดยางในสวนยางของภาครัฐทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 19 ธันวาคม 2560 ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นอีกมาตรการหนึ่งจาก 3 มาตรการของข้อตกลง สภาไตรภาคีความร่วมมือยาง(ITRC)ในมาตรการควบคุมปริมาณการผลิต (SMS)จึงควรขอความร่วมมือไปยัง มาเลเซียและอินโดนีเซียด้วยเพื่อให้มีผลทางด้านแก้ปัญหาระดับภูมิภาคให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

3.5 ควรตั้งคณะกรรมการติดตามผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ขึ้นมาอีกชุดที่เป็นอิสระจากหน่วยงานยางของภาครัฐติดตามการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลเสนอแนะความเห็นต่อรัฐบาล

3.6 กฎหมายสินค้าควบคุมสินค้ายางพารา
กรณีที่ไม่สามารถผลักดันให้ราคายางพารามาอยู่ในระดับที่เกษตรกรชาวสวนยางอยู่ได้ไม่ต่ำกว่าต้นทุนที่ 60 บาทเศษต่อกิโลกรัมจากมาตรการต่างๆ รวมถึงการใช้อำนาจในพระราชบัญญัติควบคุมยางปี 2542ของกระทรวงเกษตรฯได้แล้ว ก็เห็นสมควรประกาศให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์เพื่อกำหนดราคาชี้นำต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์