สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง อู่ข้าวจ่อจมทะเล

ในระยะสิบปีที่ผ่านมา ฉันไปสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta) ในเวียดนามมาหลายสิบรอบ เห็นแล้วได้แต่อิจฉาเขา พื้นที่ทั้งหมดเกือบ 20 ล้านไร่ ตอนใต้สุดของประเทศ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เสียนี่กระไร เขามีแม่น้ำใหญ่ 4 สาย ไหลลงทะเลในบริเวณนี้ นี่รวมแม่น้ำโขงด้วย มีแม่น้ำเครือข่ายอีกนับร้อยนับพันสายพาดโยงไปมาทั่วผืนดิน

แม่น้ำแต่ละสายของเขาใหญ่โตโอฬาร เรือข้ามแม่น้ำต้องใช้เรือใหญ่แบบเรือเดินทะเล บางแม่น้ำกว้างกว่า 2 กิโลเมตร  (เรื่องแม่น้ำนี่ไว้วันหลังคุยกันยาว คร่าวๆ คือประเทศเพื่อนบ้านเราเขามีแม่น้ำใหญ่กว่าบ้านเรามาก อย่าง อิระวดี ของพม่าก็กว้างเป็นกิโล ของเรานี่เจ้าพระยาช่วงปากน้ำโพ ที่ถือว่าเป็นช่วงที่กว้างที่สุดก็ไม่น่าจะถึง เพราะฉะนั้นให้เราหยุดเพ้อว่าบ้านเราอุดมสมบูรณ์กว่าใครอื่นเขา)

Water cannal with Boats in Mekong delta, Ben Tre, Vietnam.

สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมี 12 จังหวัด พื้นที่ 25 ล้านไร่ ประชากรไม่ถึง 20 ล้านคน พื้นที่ส่วนหนึ่งติดกับกัมพูชาประมาณว่าเดินข้ามกันได้ และนั่งรถไม่นานก็ถึงพนมเปญเลยทีเดียว พื้นที่แถวนั้นมีคนเขมรเชื้อสายจามอยู่ และอยู่กันมาเนิ่นนานก่อนการตัดแผ่นดินออกเป็นประเทศ พื้นที่ที่คนจามอาศัยอยู่จะมีวัดพุทธอยู่มากมาย เพราะพวกเขานับถือพุทธเถรวาทเหมือนไทย

ใครว่าเวียดนามไม่ให้นับถือศาสนาน่ะพูดผิดนะจ๊ะ เขาแค่ไม่ให้เอาศาสนามาแบ่งคน คือจะนับถือศาสนาอะไรก็นับถือไป แต่ไม่ต้องมากรอกเอกสารว่า ฉันเป็นพุทธ เป็นคริสต์ อะไรต่างๆ นานา

ในพื้นที่ 25 ล้านไร่นี้ อุดมสมบูรณ์ขนาดถูกเรียกเป็นชามข้าว (rice bowl) ของเวียดนาม และของโลก ผลิตข้าวได้หนึ่งในสามของเวียดนาม ขณะที่มีพื้นที่เป็นแค่หนึ่งในสิบของประเทศ

สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงยังถูกระบุว่าเป็นสวรรค์แห่งความหลากหลายทางชีววิทยา มีสรรพสิ่งมากมายให้ศึกษา ค้นหา กว่าหนึ่งพันสายพันธุ์ นอกจากมีข้าวสมบูรณ์มากแล้ว อาหารทะเลก็มากมายเหลือจะจาระไน

ในสายตาฉัน สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงสวยทั้งเวลาเรามองบนดิน ดูเส้นสายแม่น้ำตัดกันฉวัดเฉวียน เห็นแผ่นดินอุดมเขียวขจีทอดยาวสุดลูกหูลูกตา และสวยทั้งยามมองมาจากบนอากาศ นั่งเครื่องบินผ่านสามเหลี่ยมนี้เราจะเห็นเส้นแม่น้ำพาดพันกันเป็นลวดลายสวยงาม บนพื้นหลังเขียวขจี ยามปกติเมื่อมองจากบนเครื่องบินเราจะเห็นเส้นแม่น้ำจะเป็นสีเขียวเข้ม แต่ยามน้ำหลากเส้นที่พาดพันกันเหล่านั้นจะเปลี่ยนเป็นสีส้มจัด ฉันประจักษ์สายตามาแล้วในทุกสภาพ สวยทุกสภาพ สง่างามอย่างยากจะบรรยาย

ใครนั่งเครื่องบินไปหรือกลับจากญี่ปุ่น ขอแนะนำให้จ้องดูสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงให้ได้

ทำไม เรียกสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ทั้งที่มีแม่น้ำอีกมากมายหลายสาขาไหลมารวมกันในพื้นที่นี้? เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยาวกว่า 4,000 กิโลเมตร ไหลผ่านเกือบทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งจีน ไทย ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม เป็นแม่น้ำนานาชาติที่คนในพื้นที่นี้ดื่มกินอาบร่วมกัน

สามเหลี่ยมแม่น้ำโขง เริ่มต้นจากเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ หรือไซ่ง่อน แล้วก็กินพื้นที่ตอนใต้ของเมืองนี้ทั้งหมดไปจนจดทะเล เมืองสำคัญคือ เมืองคันเถ่อ เป็นเมืองใหญ่สุด รองจากโฮจิมินห์ซิตี้ มีมหาวิทยาลัย มีสนามบิน มหาวิทยาลัยของเมืองนี้เน้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงนี้เป็นหลัก

การวิจัยนี้เองที่พบว่า พื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำโขงกำลังจมลงสู่ทะเลอย่างช้าๆ นักวิจัยคนสำคัญ อย่าง Dr. Le Anh Tuan ผู้บริหารศูนย์ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง บอกฉันว่าสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทรุดตัว เฉลี่ยปีละ 2.5 เซนติเมตร

“อีกร้อยปีข้างหน้าอาจไม่มีสามเหลี่ยมปากน้ำโขงอีกต่อไป หากไม่มีการแก้ไขการทรุดตัวของแผ่นดิน การกัดเซาะของน้ำทะเล การรุกคืบของน้ำเค็มเข้ามาในแผ่นดินอย่างรวดเร็วอย่างที่เกิดต่อเนื่องมานับสิบปี”

Dr. Le Anh Tuan บอกว่า ในอีกสิบปีข้างหน้า ถนนสายสำคัญในเมืองคันเถ่อจะถูกน้ำท่วมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และจะจมอย่างถาวรในอีกราวห้าสิบปีข้างหน้า

อันนี้น่าตกใจนะ เพราะคันเถ่อน่ะอยู่ห่างจากชายทะเลหลายสิบกิโลเชียว

ส่วนจังหวัดติดทะเลน่ะ จะจมกันในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี่แน่นอน Dr. Le Anh Tuan บอก

เขาบอกด้วยว่า ได้มีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลก็รับทราบ

แต่การแก้ไขปัญหาระบบน้ำ ระบบดินของแผ่นดินอันกว้างใหญ่นี้ต้องใช้งบประมาณสูงมาก ในขณะที่เวียดนามเองไม่มีเงินทองมากมาย นอกจากนั้น ปัญหาบางอย่างยังเกิดจากประเทศต้นน้ำ เช่น การก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่มีมากมายทั้งในเขตจีน ลาว

เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศท้ายน้ำต้องรับผลพวงนั้นอย่างยากจะหลบเลี่ยง ได้มีความพยายามเจรจากับประเทศต้นน้ำให้นึกถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับคนเวียดนามท้ายน้ำ

“แต่ทุกประเทศก็รักษาผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าจะสนใจผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศอื่น” เขาบอกอย่างขมขื่น

นอกจากน้ำทะเลกัดเซาะ แผ่นดินทรุดตัวลงเรื่อยๆ น้ำทะเลหนุนเข้ามาทำให้แหล่งน้ำจืดเสียหาย นาข้าวล้มตายเพราะปัญหานี้แล้ว ที่ดินบนฝั่งแม่น้ำหลายสายก็ทรุดตัว มีบ้านเรือนนับร้อยหลังคาเรือนและคนหลายสิบคนสังเวยชีวิตไปกับการพังทลายของตลิ่ง

แม่น้ำในเวียดนามนั้นไหลแรงและเชี่ยวกราก กัดเซาะตลิ่งอย่างรุนแรง บ้านเรือนริมตลิ่งพังทลาย จนตอนนี้คนเวียดนามพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่สร้างบ้านริมตลิ่ง ทั้งที่มันเป็นวิถีชีวิตที่สืบต่อกันมาหลายรุ่นคน

ข้างบนแผ่นดินตลิ่งริมแม่น้ำหลากหลายสายทรุดพังคร่าชีวิตคน ข้างล่างน้ำทะเลก็หนุนขึ้นมา ดูดกลืนแผ่นดินทุกเมื่อเชื่อวัน แผ่นดินอันอุดมนี้ถูกคุกคามอย่างรุนแรง และถ้าไม่มีการแก้ไขอะไร เช่น การสร้างตลิ่งป้องกันการพังทลายของดิน การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกคืบ หรือการกัดเซาะชายฝั่ง

สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงอันไพบูลย์ ก็จะสูญสิ้นในอีกไม่นาน