เผยแพร่ |
---|
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2561 นี้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงระหว่าง 0.6-1.6% เฉลี่ย คาดว่าน่าจะเข้าใกล้ 1% ภายใต้สมมติฐาน ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัว 3.75%
และคาดว่าราคาสินค้าน่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน และภาคบริการ ขนส่ง อาจปรับเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นสูงมากนัก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นสูง และมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการดูแลราคาสินค้า ของกรมการค้าภายใน ยังช่วยทำให้ค่าครองชีพไม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ทำให้ราคาสินค้าโดยรวมยังไม่สูงขึ้นมาก
นอกจากนี้ การส่งออกที่สูงขึ้น ทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว มีการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็จะขยายตัวมากขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนราคาน้ำมันคาดว่า ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี ที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.66% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าค่าครองชีพของประชาชนไม่ได้สูงมากนัก ประชาชนยังชะลอการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน เนื่องจากกำลังซื้อยังเปราะบาง แต่การปรับขึ้นส่วนใหญ่มาจากหมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น 1.5% รวมถึง หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารที่สูงขึ้น 2.35% จากปีที่ผ่านมา ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากกว่าปี 2016 ส่วนหมวดอาหารสดราคาปรับลดลงจากปีที่ผ่าน โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ไข่ไก่ และเนื้อสัตว์
นอกจากนี้ ยังได้วัดค่าครองชีพจากส้มตำใส่ถุง โดยพบว่า จังหวัดที่ราคาส้มตำแพงสุด คือ จ.กระบี่ ราคาถุงละ 60 บาท รองลงมาเป็น จ.ระยอง ถุงละ 55 บาท ส่วนกรุงเทพฯ ราคาถุงละ 35 บาท และถูกสุด ศรีสะเกษ ราคาถุงละ 30 บาท
ทั้งนี้ พบว่าราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว ทั้งนี้ในปีนี้ เศรษฐกิจคาดว่าจะดีขึ้น แต่ควต้องจับตาดู ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่จะผันผวนตามสถานการณ์การเมืองโลก และอาจจะมีผลต่อราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน
ทีมา : ข่าวสดออนไลน์