ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | อัมพวัน อยู่กระทุ่ม |
เผยแพร่ |
ทิศทางของ จ.สุรินทร์ ที่ชูสโลแกนว่า “เมืองเกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยววิถีชุมชน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ต่างพาให้จินตนาการถึงภาพความสุขของประชาชนที่มีรอยยิ้มเปื้อนหน้า หากสโลแกนนี้ปรากฏชัดให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
จ.สุรินทร์มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลจากศักยภาพจากทั้งที่ตั้ง แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม และวิถีชุมชนที่มี จึงช่วยส่งเสริมให้ จ.สุรินทร์ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมถึงศักยภาพจากทรัพยากรธรรมชาติ ที่ช่วยให้ จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก และมีโอกาสในการพัฒนาผลผลิตการเกษตร โดยเฉพาะผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ที่ จ.สุรินทร์เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ ภายใต้โครงการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชนระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษามีทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัด
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า ประชากรใน จ.สุรินทร์มีอาชีพหลักคือภาคเกษตรกรรม มากที่สุดถึงร้อยละ 23.64 แต่ในปี พ.ศ.2557 กลับพบว่ามีการเจริญเติบโตด้านมูลค่าที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับภาคการผลิตอื่นๆ ของจังหวัด ขณะที่ภาคแรงงานส่วนใหญ่มีทักษะต่ำ โดยมีระดับการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า ร้อยละ 76.23 ซึ่งสวนทางกับทิศทางการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการแรงงานระดับวิชาชีพร้อยละ 45.27 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ร้อยละ 43.42 และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ สสค.จึงร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และกิจการเพื่อสังคม a-chieve จัดงาน “เปิดโลกการเรียนรู้สู่อาชีพสุรินทร์” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการฯ ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ เพื่อสังเคราะห์ปัญหา แลกเปลี่ยนมุมมอง ต่อการจัดการศึกษาในพื้นที่ และแนะแนวอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
5 ร.ร.นำร่อง ‘หลักสูตรอาชีพ’
ไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ (อบจ.สุรินทร์) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ให้ข้อมูลว่า เด็กและเยาวชน จ.สุรินทร์ มีอัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษาค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และหนึ่งในนั้นมีจำนวนสูงถึง 1.5 หมื่นคน ที่ไม่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากมีฐานะยากจน ทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดแรงงานภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม และภาคการก่อสร้าง ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่งผลให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้กลายเป็นแรงงานไร้ทักษะ เพราะหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับทักษะอาชีพเข้าไป
“จากการวิเคราะห์โครงสร้างทางเศรษฐกิจของ จ.สุรินทร์ พบว่า ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร แต่เป็นภาคการเกษตรที่ทำแบบวิถีชีวิตดั้งเดิม ฉะนั้นมูลค่าที่เกิดขึ้นจึงต่ำ ถ้าเราสอนให้น้องๆ ได้รู้จักการทำการเกษตรแบบทันสมัย หรือเอาวิทยาศาสตร์เข้าไปจับ ก็จะช่วยให้การพัฒนาในเรื่องคุณภาพของสินค้าทางการเกษตรดีขึ้นมีมูลค่ามากขึ้น”
“การจัดทำหลักสูตรอาชีพ” ปัจจุบัน จ.สุรินทร์ นำร่องใน 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านอาเลา โรงเรียนบ้านหนองแวง โรงเรียนบ้านกุดไผทประชาสรรค์ โรงเรียนบ้านโคกเมือง และโรงเรียนกาบเชิงวิทยา หลักสูตรนำร่องนี้แต่ละโรงเรียนจะเป็นผู้ออกแบบเอง ซึ่งส่วนใหญ่ทำในลักษณะของเกษตรแบบผสมผสานตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้มีชีวิตอยู่โดยหลุดพ้นบ่วงแห่งความยากจน
‘ตุ๊กตาขนมปัง’ ช่วยค้นหาตัวเอง
นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย หรือ วิน หนึ่งในผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม a-chieve ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนโครงการฯให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ กล่าวว่า สิ่งที่เราทำอยู่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของสังคมได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงให้เด็กไทยเป็นเด็กที่รู้เป้าหมายของตนเอง รู้ว่าตนเองอยากทำอะไร ประกอบอาชีพอะไร และยิ่งถ้าเราสามารถทำให้คนรอบข้างของพวกเขายอมรับในสิ่งที่ตัวเขา
เป็นและสนับสนุนพวกเขาได้ สุดท้ายเด็กเหล่านี้จะกล้าที่จะเลือกเรียนและเลือกอาชีพที่พวกเขามุ่งมั่น และมีความสุขที่จะทำ
“ทำอย่างไรให้เด็กมีวิธีคิดในการที่จะรู้ว่า เขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถนัดอะไร และไม่ถนัดอะไร และให้เขารู้ด้วยว่า จริงๆ แล้วความชอบของเขา หรือความถนัดของเขาเหมาะสมกับสิ่งที่เขาเลือกได้อย่างไรบ้าง เพราะเราเชื่อว่าเด็กคนหนึ่งการที่เขาจะเลือกเรียนหรือเลือกทำอาชีพจะต้องมาจากข้างในของตัวเอง ทุกคนมีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่ เวลาเรียนแนะแนวส่วนใหญ่จะไม่คิดถึงว่าอนาคตจะไปประกอบอาชีพอะไร จะคิดแค่ว่าจะเรียนคณะอะไร”
ฉะนั้น a-chieve จะทำให้เห็นเป้าหมาย สัมผัสข้อมูล และประสบการณ์อาชีพ มิฉะนั้นเราอาจจะไม่มีคำตอบว่า “เรียนไปทำไม” ซึ่งประเด็นนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย และเป็นสิ่งที่กำลังพยายามแก้ไขอยู่
“ตุ๊กตาขนมปัง” คือหนึ่งในกิจกรรมเวิร์กช็อปของ a-chieve ที่มุ่งให้เด็กและเยาวชนรู้จักอาชีพที่เหมาะสม โดยกิจกรรมนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยการวาดรูปตุ๊กตาขนมปังขึ้นมา ภายในเขียนเป้าหมายความฝันในชีวิต, สิ่งที่ชอบ (ทำแล้วมีความสุข ให้คุณค่า), จุดแข็ง (ความสามารถ ทำได้ดี ถนัด), จุดอ่อน (ความสามารถ ทำได้ไม่ดี ไม่ถนัด), ความคาดหวัง และโอกาส อุปสรรคภายนอก ก่อนจะนำมาวิเคราะห์และนำไปสู่การมี “อาชีพที่ใช่ ชีวิตที่ชอบ”
‘จ.สุรินทร์’ ต้นแบบจังหวัด จัดการศึกษา
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จ.สุรินทร์ คือหนึ่งในจังหวัดตัวอย่างที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็ก และเยาวชนให้มีทักษะด้านอาชีพ อย่างไรก็ดี ต้องนำเทคโนโลยีและความรู้อื่นๆ ด้านดิจิทัลมาผสมผสานกับอาชีพอย่างกลมกลืนด้วย รวมถึงต้องมีความรู้ด้านบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างกิจการกับทรัพยากรในพื้นที่ตรงตามวัตถุประสงค์ไทยแลนด์ 4.0
ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่”ทำให้ จ.สุรินทร์สามารถช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 734 คน ในจำนวนนี้ 447 คน เข้าสู่ระบบการศึกษาได้ อีก 287 คน ได้รับการส่งต่อฝึกอาชีพที่ตนเองถนัดและสนใจในสาขาต่างๆ
การศึกษาจะเกิดประโยชน์ต่อเมื่อจบการศึกษาแล้วมีงานทำ และงานที่ทำนั้นจะต้องเกิดจากความถนัดและมีความสุข มิฉะนั้นการศึกษาที่ได้รับจะไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ต้องเป็นความต้องการของตลาดในพื้นที่นั้นๆ ด้วย
โดยรัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนาคน อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของการพัฒนาชาติ จึงมีนโยบายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องบูรณาการการศึกษาและพัฒนาคน โดยมุ่งให้เกิดการเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและความต้องการท้องถิ่น เน้นการสร้างคนให้มีความสามารถ มีทักษะ และเจตคติที่ดีในการทำงาน ด้วยการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ
“การขับเคลื่อนจะประสบความสำเร็จ ควรเริ่มจากท้องถิ่นไปสู่จังหวัด เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างหลากหลาย มีต้นทุนทรัพยากรแตกต่างกัน ส่งผลให้ความต้องการแรงงานแตกต่างกันด้วย ดังนั้นการพัฒนาด้านอาชีพของคนในแต่ละจังหวัดต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย โดยจังหวัดสามารถกำหนดทิศทางการศึกษาในจังหวัดของตนเอง”
การเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมกำหนดทิศทาง และความต้องการในการจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในแต่ละจังหวัดด้วยตัวเอง เป็นการตอบโจทย์การเพิ่มศักยภาพผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี