นโยบายผู้ว่าฯ นำศาสตร์พระราชา พัฒนาบึงกาฬ ดีเด่นเรื่อง “ยางพารา – ไม้ผล – ท่องเที่ยว”

ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา หลังจาก “คุณพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์” ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ คนที่ 7 ได้ก้าวเข้ามาทำหน้าที่พ่อเมืองของจังหวัดบึงกาฬอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้ผลักดันโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนสู่เป้าหมายหลัก คือ “สังคมเป็นสุข” อย่างต่อเนื่อง อาทิ มุ่งพัฒนา “ยางพาราบึงกาฬ 4.0” พลิกฟื้น “การทำสวนผลไม้” ในจังหวัดบึงกาฬ พัฒนามูลค่าเพิ่มข้าวแบบครบวงจร ฯลฯ

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งพ่อเมือง ท่านผู้ว่าฯ ยังมีไอเดียเด็ดๆ อีกมากมายที่จะนำมาใช้พัฒนาจังหวัดบึงกาฬ เช่น ลดปัญหาหนี้สินในระดับครัวเรือน สร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่ความมั่งคั่งแก่ประชาชนชาวบึงกาฬอย่างยั่งยืน

 

เรียนรู้ “ศาสตร์พระราชา” พัฒนาคุณภาพชีวิต

ในอดีต ประชาชนทั้งในภาคการเกษตร และนอกภาคเกษตรประสบปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประกอบอาชีพ จึงกู้ยืมเงินนอกระบบ เกิดหนี้สินก้อนโต ใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยนำ “ศาสตร์พระราชา” มาช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม “คน” ลดปัญหาหนี้สินในระดับครัวเรือน กระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายให้ทุกจังหวัดนำศาสตร์พระราชา เช่น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้การพึ่งพาตัวเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมปลูกพืชแบบผสมผสาน ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ มีเหตุผล มีคุณธรรม รู้จักวิเคราะห์ปัญหา แนวทางแก้ไข เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกอาชีพ ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพนอกภาคการเกษตร เมื่อชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง จะเกิดขบวนการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง มีรายได้ที่เพิ่ม พึ่งพาตัวเองได้ ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเหลือชุมชนและสังคมได้ต่อไป

คุณพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ

ผมคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่เพื่อก้าวสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” เพียงแค่คนไทย “ปรับแนวคิดใหม่” พัฒนาการผลิตจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างครบวงจร ก็ทำให้เกิดความก้าวหน้าในอาชีพได้ ด้านปลายน้ำ สนับสนุนจุดขายสินค้าในลักษณะ “ตลาดประชารัฐ” โดยเปิดครบทั้ง 8 อำเภอ ของจังหวัดบึงกาฬ ได้แก่ 1. ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ 2. ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ 3. ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด 4. ตลาดประชารัฐ Modern Trade 5. ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. 6. ตลาดประชารัฐต้องชม 7. ตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม

จังหวัดบึงกาฬ ได้มอบหมายให้สำนักงานสถิติจังหวัดประเมินผลความสำเร็จของศาสตร์พระราชาที่นำมาใช้กับประชาชนชาวจังหวัดบึงกาฬ พบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น หนี้สินน้อยลง ค่าดัชนีความสุขระดับ 6 รายได้ต่อหัว ต่อครัวเรือน ก็ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) ของจังหวัดบึงกาฬ ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะ 2 ปีหลัง เพราะผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่ ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ระหว่างปี 2559-2560 มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 22,000 ล้านบาท เท่าเดิม

ชูยุทธศาสตร์ “ท่องเที่ยว” เสริมรายได้ชุมชน

ที่ผ่านมา จังหวัดบึงกาฬได้โปรโมตการท่องเที่ยววิถีธรรมชาติ เชิงวัฒนธรรม เชิงอารยธรรม และด้านศาสนา ระหว่างการจัดงานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2560 ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ในแง่ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือชาวบึงกาฬนั่นเอง เพราะชาวบึงกาฬส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น ภายหลังจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้ชาวบึงกาฬตื่นตัวหันมาท่องเที่ยวภายในจังหวัดเพิ่มขึ้น เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สนับสนุนงบประมาณให้จังหวัดบึงกาฬใช้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เช่น “บ้านนาคำแคน” ทางผ่านเข้าสู่วัดเจติยาศรีวิหาร (วัดภูทอก) สำนักงานท่องเที่ยวจังหวัดได้แนะนำให้ชาวบ้านหันมาพัฒนาสมุนไพร “ลูกประคบ” สินค้าเด่นของชุมชน เป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (สปา)

“หนองเลิง” ในเขตพื้นที่อำเภอพรเจริญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นในเรื่อง “ทะเลบัวแดง” บานสะพรั่งอยู่เต็มเนื้อที่ 500 ไร่ ที่ผ่านมาชาวบ้านสันติสุขซึ่งอยู่ติดกับหนองเลิง จะนำสินค้าในชุมชนออกมาวางขายให้นักท่องเที่ยว ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวชมบัวแดงเท่านั้น ขณะนี้ทางจังหวัดได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนดังกล่าวตลอดทั้งปี เช่น จัดกิจกรรมล่องแพชมทิวทัศน์ตามลำน้ำ เป็นต้น

ในระยะยาว จังหวัดบึงกาฬวางเป้าหมายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนควบคู่กับการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างจังหวัดบึงกาฬ กับ 3 ประเทศ (ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม) รวมทั้งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง บึงกาฬ กับ 9 จังหวัด (หนองคาย-สกลนคร-นครพนม-เมืองวินห์-เมืองฮาติงของเวียดนาม-คำม่วน-เชียงขวาน-แขวงบอลิคำไซ ของ สปป.ลาว)

 

ยุทธศาสตร์ “การเกษตรก้าวหน้า”

ในอดีต เกษตรกรจังหวัดบึงกาฬปลูกผลไม้เป็นรายได้เสริม แต่ผลกระทบจากวิกฤตราคายางตกต่ำในช่วง 2 ปีหลัง เกษตรกรบางรายได้ตัดโค่นต้นยางมาปลูกไม้ผลเป็นรายได้หลักเพิ่มมากขึ้น เช่น การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนในพื้นที่บึงโขงหลง เกษตรกรปลูกทุเรียน 8 ไร่ ก็ได้ผลผลิตคุณภาพดี สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน จังหวัดบึงกาฬสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้ผลเป็นพืชทางเลือก เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกษตรกรปลูกไม้ผลแซมในสวนยางพารา

ผลไม้ของจังหวัดบึงกาฬมีคุณภาพดี รสชาติเยี่ยม เช่น “มังคุด” ปลูกแพร่หลายในพื้นที่อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอปากคาด “เงาะ” ก็ปลูกมากในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เงาะบึงกาฬมีรสชาติหวาน กรอบ เนื้อแห้ง รสชาติอร่อยกว่าเงาะโรงเรียนจากสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2560 อุตรดิตถ์ ลำปาง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสับปะรดชื่อดังของประเทศ เจอปัญหาขายผลผลิตได้ราคาถูก แต่ “สับปะรด” ของอำเภอชัยพร มีรสชาติอร่อยและไม่เจอปัญหาราคาตก เพราะเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพดี ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท

นอกจากนี้ เกษตรกรยังนิยมปลูกลองกอง กล้วยหอมทอง ในพื้นที่เขตอำเภอเมืองบึงกาฬ และอำเภอปากคาด “สะละ” เป็นไม้ผลตัวใหม่ที่เริ่มปลูกในจังหวัดบึงกาฬ สะละที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬมีรสชาติอร่อยกว่าสะละที่มาจากท้องถิ่นอื่น เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬได้เปรียบในเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ดินดี น้ำดี สามารถปลูกผลไม้ได้นานาชนิด ในระยะยาวคาดว่า “ผลไม้” จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดและเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในฐานะ “บึงกาฬ…เมืองผลไม้คุณภาพดีนานาชนิด มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี”

“ปาล์มน้ำมัน” เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตามอง เพราะเนื้อที่ปลูกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเนื่องถึง 5 หมื่นไร่แล้ว เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬเป็นแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ มีปริมาณน้ำฝนตกโดยเฉลี่ย 2,500 มิลลิเมตร/ปี ซึ่งเป็นปริมาณฝนที่สูงมาก ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ภาคใต้ ที่เรียกว่า “ฝน 8 แดด 4” เพราะฉะนั้นจังหวัดบึงกาฬปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างสบายๆ พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปาล์มน้ำมันจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สำคัญของจังหวัดบึงกาฬในอนาคต

ยุทธศาสตร์ “การเกษตรก้าวหน้า” ของจังหวัดบึงกาฬ นอกจากส่งเสริมการปลูกไม้ผลเพื่อเป็นพืชทางเลือกใหม่ของเกษตรกรแล้ว ยังมุ่งพัฒนาจังหวัดบึงกาฬให้เป็น “กรีนซิตี้” หรือ “เมืองเกษตรสีเขียว” เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตสินค้าอาหารปลอดภัย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงนิเวศ ใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมปลูกพืชผักอินทรีย์ในลักษณะเกษตรแปลงใหญ่ ลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัจจุบัน นโยบายกรีนซิตี้ของจังหวัดบึงกาฬ กลายเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสูงวัยชาวญี่ปุ่น มาพักผ่อนท่องเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬได้นานนับเดือน

 

งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2561

การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2560 นับว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย เพราะเชื่อมโยงธุรกิจการค้ายางพาราของไทยสู่ตลาดสากลมากขึ้น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ (อบจ.บึงกาฬ) เป็นตัวแทนชาวสวนยางเซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) เชื่อมสัมพันธ์การค้าและการลงทุนกับอินเดีย

ส่วนการจัดงานยางพาราบึงกาฬ 2561 คาดว่า อบจ.บึงกาฬ จะมีโอกาสเซ็นสัญญาความร่วมมือกับพันธมิตรอีกหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะช่วยขยายฐานลูกค้าส่งออกผลิตภัณฑ์หมอนยางและที่นอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬจำกัดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน คาดหวังว่าการจัดงานปีนี้เป็นเวทีเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าในรูปแบบเมืองคู่มิตร ระหว่างจังหวัดบึงกาฬ กับเมืองชิงเต่าของจีน ให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว

การจัดงานวันยางพาราในปีนี้ ทางจังหวัดมุ่งนำเสนอนวัตกรรมใหม่สำหรับยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล โดยนำหมอนยางพารา ล้อรถยนต์ ฯลฯ มาจัดโชว์ในลักษณะกราฟแสดงการเติบโตของอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงคุณค่าและโอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา

เป้าหมายการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในปีนี้ มุ่งตอกย้ำบทบาทสำคัญของจังหวัดบึงกาฬ ในฐานะศูนย์กลางการผลิต-การค้ายางพาราที่สำคัญของภาคอีสาน รวมทั้งเป็นเวทีกลางสำหรับการเจรจาการค้าระหว่างเกษตรกร พ่อค้า นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ผู้เข้าชมงานจะได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ด้านยางพาราจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แม้วันนี้ราคายางพาราจะอ่อนตัวลง แต่ตัวเลขพื้นที่ปลูกยางพาราโดยรวมของจังหวัดไม่ได้ลดลง การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในปีนี้ ทางจังหวัดเตรียมจัดมุมนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการปลูกไม้ผลเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่แก่เกษตรกรชาวสวนยางด้วย เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้ผลเป็นพืชทางเลือกใหม่ ช่วยเพิ่มรายได้และเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง เช่น ปลูกสับปะรดในสวนยาง ฯลฯ

ผมคาดหวังว่า การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในปีนี้ จะเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับชาวจังหวัดบึงกาฬเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน จากแนวคิดศาสตร์พระราชาควบคู่กับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงนิเวศ จะช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับจังหวัดบึงกาฬในอนาคต