เผยแพร่ |
---|
วันที่ 19 ม.ค. นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยหลังพบและหารือกับกรมสรรพากร เกี่ยวกับโครงสร้างภาษีใหม่ที่จะมีผลชำระในเดือนมี.ค.2561 ว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม กำลังประสบความเดือดร้อน หลังกรมสรรพากรปรับโครงสร้างภาษีใหม่ โดยมีการจัดเก็บภาษีรายได้ผู้เลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น จากรายได้ 100% หักรายจ่ายได้เพียง 60% จากโครงสร้างภาษีเดิมสามารถหักรายจ่ายได้ 85% และส่วนที่ต้องนำไปคำนวนเป็นฐานเสียภาษีคือ 40% รายได้ทั้งหมด จากเดิมใช้ 15% ของรายได้นำมาคำนวนภาษีรายได้ประจำปี
“ประกาศโครงสร้างภาษีใหม่ของกรมสรรพากร ส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งมากกว่า 80% ของผู้เลี้ยงโคนมเป็นรายย่อย จึงได้เข้าพบ หารือกับกรมสรรพากร เพื่อหาวิธีช่วยเหลือและลดภาระให้กับเกษตรกร เบื้องต้นสรรพากรทำหนังสือเวียนไปถึงเกษตรกรทั่วประเทศ โดยให้คำแนะนำมาว่า ให้เกษตรกรรายย่อย นำใบเสร็จค่าใช้จ่าย ในฟาร์ม ค่าต้นทุนการผลิต สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถลดได้สูงสุดจุดเหลือเพียง 15% ของรายได้ทั้งหมด ตามโครงสร้างภาษีเดิม แต่กรมสรรพากรย้ำต้องมีใบเสร็จ ที่ตรวจสอบและรับรองได้”
นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2561(ต.ค.-ธ.ค.2560) ที่เพิ่งผ่านไป อ.ส.ค.มีรายได้รวมประมาณ 1,600 ล้านบาท ลดลง 20% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณนมออกมาน้อย ไม่สามารถผลิตและเพียงพอต่อการจำหน่าย ส่งผลให้รายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่เชื่อว่า ทั้งปีน่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือประมาณ 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนมดรงเรียน 1,000 ล้านบาท รายบได้จากยอดขายต่างประเทศ 1,200 ล้านบาท และที่เหลือเป็นรายได้ยอดขายในประทศประมาณ 6,800 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตมากกว่ารายได้ปี 2560 ประมาณ 6%
อย่างไรก็ตาม ปริมาณนมดิบที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยผลิตได้มีปริมาณ 3,300 ตัน ในจำนวนนี้เป็นนมของ อ.ส.ค.ปริมาณ 700 ตัน หรือไม่เกิน 20% ของนมที่เกษตรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์