‘กฤษฎา’ จี้ 2 รมช. เร่งแก้ราคาหมู-ไข่-ยาง หลังทำงาน 2 เดือน ชี้เรื่องปากท้องชาวบ้านเป็นเรื่องด่วน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เรียกนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร และนายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 2 คน เข้าหารือเพื่อติดตามงานในช่วง 2 เดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง และได้สอบถามถึงการติดตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และได้สั่งการงานที่จะเดินหน้าจากนี้ต่อไปว่า ต้องดำเนินการในเรื่องที่กระทบปากท้องชาวบ้าน ทั้งเรื่องของราคาหมู ไข่ไก่ ยางพารา เป็นต้น เพราะเรื่องปากท้องชาวบ้านเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯต้องเร่งจัดการ

ส่วนงบประมาณรายจ่ายกลางปีจำนวน 150,000 ล้านบาท กระทรวงเกษตรฯ ได้งบประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่นายกฯ ได้ออกหลัก 9 ประการ และระบุว่าให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนรับผิดชอบประสานงานกับเจ้าหน้าที่จากทุกกระทรวง โดยมีการสำรวจความต้องการของประชาชน ในส่วนของเกษตรฯ รับผิดชอบดูว่าเงิน 30,000 ล้านบาท ทำแผนอะไรบ้าง แต่ยืนยันไม่มีการแบ่งเงินจำนวน 15,000 ล้านบาท ไปดูแลชาวสวนหรือมุ่งไปดูแลราคายางพาราแต่อย่างใด เพราะรายละเอียด กระทรวงฯ ยังต้องหารือกันก่อน

สำหรับเรื่องยางพาราที่ครม. มีมมีติแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำแล้ว ก็ให้ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ดำเนินการรอะไรไปแล้วบ้าง ถึงไหนแล้ว อาทิ มาตราการหยุดกรีดยางของรัฐ หน่วยไหนแจ้งปริมาณการใช้ยางมาแล้วบ้าง ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่แจ้งความต้องการมาแล้ว ได้แก่ กรมทางหลวง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเกษตรฯ โดยข้อมูลแจ้งมาในขั้นต้น มีความต้องการน้ำยางข้น 38,000 ตัน และน้ำยางสด 70,000 ตัน

“ตอนนี้ภาครัฐมีมาตราการชะลอการส่งออก 3 เดือน และหยุดกรีดยาง เพื่อทำให้ปริมาณยางพาราในตลาดลดลง ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกและผลิตยางพารามากที่สุด เมื่อไทยตัดสินใจลดการส่งออกยาง อีก 2 ประเทศ คือ ประเทศ มาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ก็ลดตามด้วย ปัจจุบันไทยส่งยางออกน้อยในช่วง 3 เดือนนี้ ซึ่งทำให้เมื่อส่งขายได้ราคาดีมากเพราะปริมาณยางในตลาดโลกลดลง หากการลดปริมาณการส่งออกยางพาราของไทย ส่งผลให้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ ไม่มียางส่งมอบ ต้องไปซื้อยางในต่างประเทศ เรื่องนี้ยืนยันชาวสวนไม่เสียประโยชน์ เพราะราคายางปรับเพิ่มขึ้นในตลาดโลก ก็จะดันราคายางพาราให้ประเทศไทยให้สูงขึ้นได้

 

สำหรับข้อสั่งการนายกฯ เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ไปสู่การปฎิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ทั้งหมด 9 ประการ ได้แก่ 1.คนไทยรักกัน ด้วยการสร้างความสามัคคีกัน โดยจัดให้มีการทำสัญญาประชาคมหรือหลักเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเพื่อรับรู้และปฎิบัติตามร่วมกัน 2.คนไทยไม่ทิ้งกัน ด้วยการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 3.เมืองไทยน่าอยู่ ด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพ และรายได้ให้แก่ประชาชน

4.วิถีไทยพอเพียง ด้วยการส่งเสริมให้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งเสริมสร้างวินัยการออมในทุกช่วงวัย 5.รู้สิทธิ รู้หน้าที่ ด้วยการให้ความรแก่ประชาชนในเรื่องสิทธิ หน้าที่ และการเป็นพลเมืองที่ดี 6.รู้กลไกการบริหารข้าราชการ ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งเรื่องกลไกการบริหารราชการแผ่นดินแต่ละระดับ และการบริหารงบประมาณที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชน 7.รู้จักประชาธิปไตย ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาล 8.รู้เท่าทันเทคโนโลยี ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องผ่านโครงการสำคัญ อาทิ เน็ตหมู่บ้าน เป็นต้น และ 9. บูรณาการการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์