เกษตรฯรุกผลิตปาล์มน้ำมัน-น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน เสริมแกร่งสินค้าอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลก

เกษตรฯ เดินหน้าผลิตปาล์มน้ำมัน-น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรฐานลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม รองรับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ เสริมแกร่งสินค้าอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลก

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดโลกมีความต้องการน้ำมันปาล์มที่ผลิตอย่างมีคุณภาพมาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ทั้งการใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร พลังงานทดแทนและต่อยอดการผลิตในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จากธรรมชาติ (โอลิโอเคมิคอล) ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันอันดับ 3 ของโลก จึงมีการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ และคณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติต้องการผลักดันให้ไทยมีมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันที่เป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับน้ำมันปาล์มของไทยในเวทีการค้าโลกและป้องกันปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบหมายให้ มกอช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง “หลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนของประเทศไทย” เพื่อเป็นแนวทางยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐาน

พร้อมพัฒนาระบบการจัดการที่ยั่งยืนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคเอกชนในหลายประเทศได้รวมตัวสร้างมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) เพื่อใช้รองรับการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ขณะนี้มีสมาชิกเข้าร่วมแล้วกว่า 3,045 แห่งทั่วโลก และผู้ซื้อรายใหญ่ต่างใช้มาตรฐาน RSPO นี้ เป็นเงื่อนไขการรับซื้อน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ด้วย
ขณะเดียวกันอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก ก็ได้กำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนของตนเอง คือ มาตรฐาน Indonesian Sustainable Palm Oil (ISPO) และมาตรฐาน Malaysian Sustainable Palm Oil (MSPO) และอาเซียนก็มีแนวโน้มที่จะจัดทำ ASEAN Palm Oil เพื่อรองรับความต้องการของผู้ซื้อน้ำมันปาล์มในตลาดโลก
“ความยั่งยืนในมิติของมาตรฐานฉบับนี้ มุ่งเน้นการผลิตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมซึ่งครอบคลุมถึง สวัสดิภาพแรงงาน ความเสมอภาคชายหญิง และสิ่งแวดล้อมตามวัตถุประสงค์ของ พรบ. ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ในการจัดทำมาตรฐานฯ มกอช. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานฯ ดังกล่าวจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย อาทิ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และผู้ผลิตไบโอดีเซล ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงแก้ไขร่างมาตรฐานฯ ให้มีความสมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับ และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง ก่อนเสนอให้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณารับรองและประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ และต่อไปประเทศไทยก็จะมี Thailand Sustainable Palm Oil (TSPO) ที่สอดคล้องกับสากล” เลขาธิการ มกอช. กล่าว

​นางสาวเสริมสุขกล่าวอีกว่า ปี 2560 นี้ กระทรวงเกษตรฯ ประมาณการมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ผลผลิต ประมาณ 4.83 ล้านไร่ ได้ผลผลิต ประมาณ 12 ล้านตัน สกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านตัน นำมาใช้เพื่ออุปโภค-บริโภคภายในประเทศ ประมาณ 929,000 ตัน เพื่อผลิตไบโอดีเซล 854,000 ตัน และเพื่อการส่งออก 70,000 ตัน เมื่อรวมกับอินโดนีเซียที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากถึง 47 ล้านไร่และมาเลเซีย 29 ล้านไร่ ถือว่าอาเซียนเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่สำคัญของโลก เพราะมีสัดส่วนการผลิตรวมกันมากกว่า 90% ของปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบของโลก โดยอินโดนีเซียผลิตได้ 55% รองลงมา คือ มาเลเซีย ผลิตได้ 34% และไทย 4%
“อนาคตหากไทยประกาศใช้มาตรฐานหลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนของประเทศอย่างเป็นทางการ คาดว่า จะช่วยเสริมความแข็งแกร่ง และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับน้ำมันปาล์มของไทยในตลาดโลก และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้า ที่สำคัญยังช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกร และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนด้วย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว