อ.ส.ค.จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทอาร์แอนด์ ดี รีเสิร์ซ แอนด์ ดีวีลอปเม้นท์ จำกัด วิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง หวังยกระดับการใช้น้ำนมโคสดแท้ 100 % เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย

นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)เปิดเผยว่า อ.ส.ค. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านโคนมและอุตสาหกรรมการแปรรูปนม (MOU)ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาด้านวิชาการ อีกทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ทางด้านวิชาการ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันยังรวมถึงการฝึกอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการผลิตโคนม และประการสำคัญก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้อ.ส.ค.มีแนวทางในการสืบสาน รักษา ต่อยอด อาชีการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรให้มีความมั่นคงยั่งยืน และผลัดกันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และการวิจัยด้านอุตสาหกรรมโคนมในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาศักยภาพการส่งออกผลิตภัณฑ์นมยังตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับอ.ส.ค. จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะสามารถขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมของไทยทั้งระบบ ให้ขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมโคนมของภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้อ.ส.ค.และบริษัทอาร์แอนด์ ดี รีเสิร์ซ แอนด์ ดีวีลอปเม้นท์ จำกัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยร่วมมือกับศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของน้ำนมโค จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับนมโคจากไทย-เดนมาร์ค เป็นวัตถุดิบสำคัญในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ปรากฏว่า นมโคมีคุณภาพความหลากหลายที่จะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ใช้ได้จริง เช่น สบู่จากนมโคสดแท้ 100 % ครีมบำรุงผิวจากน้ำนมโคสดแท้ 100 % เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และสามารถนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกสู่ตลาดได้จริงอย่างไรก็ตามการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการนำน้ำนมโคจากเกษตรกรในประเทศมาเพิ่มมูลค่าและเกิดประโยชน์มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่ารายได้ให้กับเกษตรกร

อย่างไรก็ตามความร่วมมือดังกล่าวเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการ อ.ส.ค.โดยการเพิ่มกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดความหลากหลาย อีกทั้งเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ถือว่าเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และสร้างแบรนด์สินค้าของไทย-เดนมาร์ค หรือที่รู้จักกันในนามวัวแดง ได้เป็นอย่างดี และประการสำคัญมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังตลาดอาเซียนในอนาคตอีกด้วย