‘ครูต้นแบบจิตอาสา’ มทร.ธัญบุรี จิตอาสา เกิดจากจิตสำนึก นำวิชาชีพ ทดแทนคุณแผ่นดิน

“13 ปีที่ได้มาทำงานตรงนี้ จากคนที่เคยอยู่แต่เรื่องใกล้ตัว ทำในเรื่องใกล้ตัว สอนหนังสือดูงานรับผิดชอบที่เป็นงานปกติ กลายเป็นคนที่มองคนอื่นมากขึ้น กลายเป็นคนที่มององค์กรมากขึ้นและมองว่าถ้าไม่มีองค์กรคงไม่มีเรา ก็ไม่ต่างอะไรถ้าไม่มีมหาวิทยาลัยเราอาจพลาดโอกาสที่จะได้ทำงานจิตอาสา และประทับใจที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ได้นำความรู้ความสามารถไปสร้างสรรค์ และแบ่งปันให้สังคมได้ สำหรับตนเองไม่กล้าใช้ว่าจิตอาสา ใช้คำว่า ทดแทนคุณแผ่นดินดีกว่า เพราะว่าเราเข้าเป็นข้าราชการมีความสามารถอย่างไร ช่วยอะไรกับสังคมและประเทศนี้ได้ก็จะทำ ในหลวงรัชการที่ 9 เป็นต้นแบบของการทำงานทุกอย่างสำหรับชีวิตของตนเอง ในการทำงานค่ายมีหลายเรื่องรู้สึกท้อแท้ มีคำถามมากกมายเกิดขึ้นจะทำเสร็จไหม ทำไมจะต้องมาใช้ชีวิตลำบากบางพื้นที่ก็ทำงานยากมาก การเป็นอยู่หลับนอนตามสภาพพื้นที่จริงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ทำงานตากแดด ตากลมตั้งแต่เช้าจนดึก ทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ แต่เมื่อเห็นรูปพระองค์ท่านในปฏิทิน ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำมันน้อยนิดเหลือเกิน พระองค์ท่านเป็นพลังของแผ่นดิน สร้างแรงผลักดันทุกอย่าง ให้ตนเองทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นแรงบันดาลใจ เหนื่อยเมื่อไหร่ผมก็มองท่าน จะหายเหนื่อย”

เสียงบอกเล่าของ ผศ.ณัฐ แก้วสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ที่ปรึกษาชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี คนอาสาทุ่มเท ผู้มีหัวใจอาสา เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับพื้นที่ห่างไกล

ผศ.ณัฐ เล่าว่า ภูมิลำเนาเป็นคนอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่บ้านพ่อเป็นข้าราชการ ปัจจุบันครูเกษียณอายุราชการแล้ว ส่วนแม่ค้าขาย แต่ว่าตอนเด็กๆพ่อจะส่งไปอยู่กับปู่ไปทำนา เนื่องจากครอบครัวฉีดวัคซีนให้ตั้งแต่เล็ก ที่บ้านมีลูกทั้งหมด 3 คน โดยเป็นผู้ชายทั้งหมดตนเองเป็นลูกคนโต ตอนช่วงปิดเทอมพ่อและแม่จะส่งตนเองและส่งน้องไปอยู่กับปู่กับย่า ต้องไปเลี้ยงวัวต้องไปไถนาเหมือนลูกชาวนาทั่วไป “ลูกครูนะแต่ต้องไปทำนา เราเลยติดพื้นฐานความแข็งแกร่งมา เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นอยู่ อยู่ได้หมดแล้วยิ่งมาทำค่ายไม่ได้สะทกสะท้านอยู่ยังไงก็ได้เพราะว่าพื้นฐานเราก็เริ่มมาจากตรงนั้น ก็เลยไม่รู้สึกลำบากกับการที่ต้องไปอยู่กลางป่ากลางหุบเขา” เมื่อปี 2531 เข้ามาเรียนในระดับ ปวช.และ ปวส. ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตพระนครเหนือ ปวส.และเรียนต่อในระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์อุตสาหการ วิชาเอกวิศวกรรมงานเชื่อมประกอบ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเขตเทเวช (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศ) โดยอาศัยอยู่วัดลครทำ  เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หลวงตาสอนทุกวันว่า “คนเกิดก่อนต้องช่วยคนเกิดทีหลัง” เป็นสิ่งที่ตนเองจำฝังใจตลอดมา

หลังสำเร็จการศึกษา ปี 2538 ได้บรรจุรับราชการครูที่ ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เขตเทเวช และเมื่อปี 2539 ได้ย้ายมาบรรจุราชการครูที่ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ศูนย์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) เมื่อปี 2547 ได้เริ่มออกค่าย ชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี ครั้งแรกที่ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน “ผมคิดและมองว่าสาขาที่เรียนมามันมีประโยชน์ มันทำได้ มันสามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งปลูกสร้างอาคารเรียนให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและเกิดแก่โรงเรียนได้ ด้วยวิชาชีพที่เรามี ต้องคืนให้แผ่นดินบ้าง” ไปแรกๆ ใช้ชีวิตเหมือนชาวค่ายทุกอย่าง ไปสร้างอาคารเรียนกับนักศึกษา กินนอนหลับด้วยกัน จุดเริ่มต้นของการออกค่ายและเข้าร่วมชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี โดยออกค่ายกับนักศึกษาอยู่ประมาณ 4 – 5 ปี จึงได้เป็นที่ปรึกษาชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี จนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันสังคมและโลกเปลี่ยนไป ความเป็นชาวค่ายเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งในอดีตคนอาสาเข้ามาทำงานค่ายอาสามีจำนวนมาก การออกค่ายสนุก ทำงานค่อนข้างสนุก แต่พักหลังนี่รู้สึกกลิ่นอายมันจะหายไป เพราะว่าเป้าหมายในการทำค่ายเปลี่ยนไปพอสมควร เพิ่มฟังก์ชั่นให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ค่ายอาสาล่าสุด ในการสร้างอาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติหลังที่ 47 48 และ 49 ณ ศูนย์การเรียนรู้ ตชด.บ้านห้วยสลุง อ.แม่ระมาด จ.ตาก อาคารเรียน 3 หลัง ใช้เวลาเพียง 35 วัน พื้นที่ก่อสร้างอาคาร 3 หลัง ไม่น้อยกว่า 1,100 ตารางเมตร ต้องทำงานแข่งกับเวลาในการทำกิจกรรมระหว่างสร้างค่ายแทบจะไม่มีเลย การผ่อนคลายต่างๆ อรรถรสของค่ายอาสาก็จะน้อยลง ในการออกค่ายอาสามีอุปสรรคทุกปี และทวีความท้าทายมากขึ้นทุกปี เกี่ยวกับลักษณะอุปนิสัยของเด็กๆ ที่จะเข้ามา ต้องมีการกระตุ้น อบรมสร้างจิตสำนึกทุกวันเพื่อให้ได้ขยับตัว เข้าไปมีส่วนร่วมทำงานกับเพื่อน ซึ่งนี่คือความแตกต่างของเด็กสมัยก่อนกับเด็กในปัจจุบันที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งถ้าไม่มีโครงการหรือกิจกรรมประเภทการปลูกสร้าง จะกระตุ้นจิตอาสาได้ค่อนข้างยาก ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ต่อไปในอนาคตคือบุคลากรของประเทศ  ตนเองในฐานะของที่ปรึกษาของค่ายอาสาต้องรับผิดชอบสมาชิกค่าย ไม่เพียงสร้างอาคารเรียนเพียง 30 วัน แต่มากกว่านั่นทำงานกันนานมากกว่าจะจัดเตรียมกลุ่มสตาฟ ทีมงานในชมรมอาสาเพื่อที่จะแบ่งสรรค์หน้าที่พาสมาชิกค่ายออกไปประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อหางบประมาณสนับสนุน โดยเนื้องานทุกอย่างเป็นการสร้างทักษะให้นักศึกษา ต้องสอนนักศึกษาทั้งหมดทุกกระบวนการ นักศึกษาที่ใฝ่รู้จะได้เนื้อหาได้ประสบการณ์ตรงนี้เต็มรูปแบบ

“สุดท้ายก็ยืนดูผลงานแบบภูมิใจทุกครั้งที่นักศึกษาได้ลงมือและสำเร็จทุกครั้ง ภูมิใจที่เห็นลูกศิษย์ทำได้ ออกไปสู่สังคมและตลาดแรงงานที่จะพึ่งพาตัวเองได้ ฉีดวัคซีนให้แล้วจะตายหรือจะรอดอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ตนเองมีเพียงหน้าที่ในการฉีดวัคซีนให้และฉีดให้ทุกคน 23 ปี ของการเป็นครูเลือกถูกแล้วที่มาเป็นครู เพราะตนเองเห็นแล้วว่าตนเองสามารถพัฒนาคนได้ แล้วต้องบอกกันตรงๆ ว่าประเทศนี้ยังต้องพัฒนาคนอีกเยอะ ศักยภาพต่างๆ ต้องพัฒนาพอสมควรเพราะว่าการเข้าไม่ถึงของการศึกษา การขาดโอกาสทางการศึกษาเยอะมาก การทำค่ายอาสาได้เห็นสภาพโรงเรียนที่ตนเองไปสร้าง มองว่าถ้าประเทศจะก้าวไปข้างหน้าทุกคนต้องมีพื้นฐานการศึกษาระดับหนึ่ง ต้องรู้ว่าหน้าที่ของตัวเองต้องทำอะไร กติกาสังคมมันเป็นยังไง การศึกษาจะช่วยสอนขัดเกลา ดังนั้นในการการสร้างคนเป็นอะไรที่ท้าทายที่สุด

“พยายามปลูกฝังให้นักศึกษาในสาขาวิชาครู คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสา เนื่องจากการเรียนอยู่ในหลักสูตรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปเห็นบริบทของการเป็นครูจริงๆ เพราะฉะนั้นการที่นักศึกษาได้ออกค่ายอาสา ไปอยู่ไปนอนอยู่ในโรงเรียน เวลา 30 วัน นักศึกษาจะได้เห็นบริบทของคุณครู นอกเหนือจากการเรียนการสอนในห้อง ครูจะต้องดูแลเด็กต้องอำนวยความสะดวกในการเรียนการเพราะฉะนั้น การที่ให้นักศึกษาสายครูออกค่ายอาสานักศึกษาจะได้เห็นวิชาชีพครูจริงๆ ควรจะเติมแต่ง ทักษะ หรือความรู้ความสามารถด้านไหน เพื่อที่จะไปปรับให้สภาพแวดล้อมในการเรียนการสอนมันเหมาะสมขึ้นและดีขึ้น โดยใช้วิชาชีพตัวเองที่มีอยู่ ตลอดระยะเวลาในการทำงานงานค่ายอาสา ตัวเนื้องานจริงๆ สามารถเอามาเป็นบทเรียนสอนนักศึกษาได้เกือบทุกสาขาวิชา จึงมีการปรับรูปแบบการออกค่ายใหม่ให้มีวิชาการมากขึ้น สามารถที่จะฝึกนักศึกษาได้ ให้นักศึกษาได้ลงปฏิบัติจริง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายมหาลัย “สร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ”

ค่ายอาสาเป็นกิจกรรมหลักในการพัฒนาเด็ก โดยแทบไม่ต้องซื้อหรือหาวัสดุฝึก “ฝึกจริง” ฝึกแล้วเป็นตัวอาคาร สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง “ในอนาคตอยากต่อยอดในการเพิ่มกิจกรรมให้ค่ายอาสาเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนได้ครบวงจรมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะตัวอาคารเรียนอย่างเดียว” ต่อยอดอบรมครูที่อยู่ในโรงเรียนนั้นๆ รวมไปถึงการพิจารณาให้ทุนนักศึกษาที่เรียนเก่งในพื้นที่ห่างไกล ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยผ่านโครงการ จิตอาสาเป็นเรื่องที่จำเป็นมากในสังคม ปรับเป็นรายวิชาเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้สัมผัสจิตอาสาจริงๆ “จิตอาสาสอนแบบทฤษฎีไม่ได้ ต้องทำ และต้องสร้างจิตสำนึกให้เกิด” มานั่งสอน มานั่งเรียนในห้องเรียนเป็นไปได้ยากที่จะปลูกฝังให้คนมีจิตสาธารณะจริงๆ ค่ายอาสาจึงพยายามปรับบทบาท ณ จุดนั้นให้ได้ ไปสร้าง ไปผลักดันให้เกิดจิตอาสาให้ได้ ซึ่งไปครั้งเดียวคงไม่ได้หมายความว่ากลับมาจะกลายเป็นคนมีจิตอาสา พวกนี้มันจะต้องไปทุกๆ ปี ต้องทำบ่อยๆ ถึงจะเกิดจิตสำนึกขึ้นมา การสร้างนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีให้มีจุดเด่นในเรื่องพวกนี้ด้วย สร้างด้าน Soft Skills ให้นักศึกษา เป็นวัคซีนอีกหนึ่งเข็มที่จะฉีดให้นักศึกษาออกไป นอกเหนือจากด้านวิชาการที่สอนในห้องเรียน

“การทำกิจกรรมพวกนี้มันทำได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่มีกิจกรรมอีกมากมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่ออกค่ายอาสา กิจกรรมอะไรมองว่ามันเป็นประโยชน์แก่สังคมประโยชน์เพื่อส่วนรวม ยกตัวอย่าง กิจกรรมของ ตูน บอดี้สแลม เป็นต้นแบบที่ดี ได้ทั้งสุขภาพได้ทั้งประโยชน์ที่เกิดแก่สังคมส่วนรวม กิจกรรมแบบนี้มาทำบ่อยๆ และต่อเนื่อง เห็นภาพชัดเจน ทำให้สังคมสมบูรณ์ขึ้น การที่จะหมกมุ่นคิดอยู่แต่เรื่องตัวเอง เรื่องส่วนตัวเป็นที่ตั้งและสุดท้ายก็ไม่ไปไหนเลย” ผศ.ณัฐ กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์