งานปิดทองหลังพระ ขยายพันธุ์ สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์

ในปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งผ่านป่าภูเขียว

ทรงมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า พื้นที่บนภูเขาเป็นที่ราบสูง กว้างขวาง มีสภาพป่าสมบูรณ์และยังมีสัตว์ป่าอยู่มากมายหลายชนิดเป็นจำนวนมาก เหมาะที่จะอนุรักษ์ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และพัฒนาให้เป็นสวนสัตว์ป่าเปิดซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

และการที่จะดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จนั้น จะต้องยับยั้งไม่ให้ประชาชนบุกรุกป่า และล่าสัตว์ โดยพัฒนาหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงภูเขียวทั้งหมด ให้มีความเจริญ พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพ ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ มีความเป็นอยู่ดี ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรับผิดชอบ รักป่าและสัตว์ป่า จะได้ช่วยกันดูแลป้องกันมิให้ราษฎรจากหมู่บ้านอื่นๆ ขึ้นไปล่าสัตว์ป่าด้วย..Ž

ทรงมีพระราชดำรัสให้ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและกองทัพภาคที่ 2 ดำเนินการถ่ายภาพสภาพพื้นที่โดยรอบป่าภูเขียวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงสร้างถิ่นที่อยู่อันร่มเย็นผาสุกให้สัตว์ป่า

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ ที่ประทับบริเวณทุ่งกะมัง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2526 ครั้งนั้นได้พระราชดำเนินสำรวจสภาพพื้นที่ แหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหลบภัย ตลอดจนเส้นทางเดินของสัตว์ป่าบริเวณทุ่งกะมัง บึงแปน และภูคิ้ง

ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯเป็นประธานในงานวันอิสรภาพของสัตว์ป่าไทย เพื่อปล่อยสัตว์ป่า ละอง ละมั่ง เนื้อทราย คืนสู่ธรรมชาติ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 ซึ่งในการนี้ได้มีประชาชนนำอาวุธล่าสัตว์มามอบไว้เพื่อเป็นสัตยาบันในการที่จะไม่นำมาใช้ล่าสัตว์ป่าอีกต่อไป

ในวันที่ 21 ธันวาคม 2535 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสัตว์ป่าที่ทรงปล่อย ณ บริเวณทุ่งกะมัง โดยมีประชาชนในหมู่บ้านรอบภูเขียวจำนวนมากนำอาวุธล่าสัตว์มามอบให้ พร้อมทั้งได้กล่าวคำปฏิญาณว่าจะไม่ล่าสัตว์และบุกรุกทำลายป่าอีกต่อไป

Advertisement

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การทำงานด้านการอนุรักษ์ ปกป้องผืนป่าต้องทำงานอย่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะจากประชาชนที่อาศัยอยู่รอบผืนป่า ต้องเดินไปด้วยกัน ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯได้เน้นนำแนวทางดังกล่าวมาดำเนินการ พร้อมน้อมนำหลักสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ

” บ้านของสัตว์ป่าจะยังเป็นบ้านที่สมบูรณ์มีสัตว์ป่าอาศัยอย่างผาสุกได้นั้น ลำพังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคงจะดูไม่ทั่วถึง ที่แน่นอนที่สุดคือพลังเครือข่ายประชาชนโดยรอบผืนป่า เริ่มจากน้อย แล้วขยายออกเป็นใยแมงมุม ให้มีโครงข่ายโยงใยกัน หมายถึงดูแลอย่างทั่วถึง หารือ ช่วยเหลือ แก้ปัญหาส่งข้อมูลถึงกันได้ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ใครมาทำอะไรในแง่ไม่ดียาก”Ž พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว

Advertisement

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่า นอกจากการดูแลพื้นที่ให้มีที่อยู่อาศัยที่พร้อมรองรับ ให้มีอาหารอันอุดมสมบูรณ์แล้ว เรื่องการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่รอบๆ ป่านั้นก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ในเรื่องการดูแลสัตว์ป่านั้น กรมอุทยานฯเป็นห่วง และให้ความดูแลเสมอกันในแต่ละพื้นที่ แต่ยอมรับว่ายังมีหลายพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อการดำรงอยู่ของสัตว์ป่าหลายชนิด จึงต้องเข้มงวดเป็นกรณีพิเศษ รวมไปถึงการเร่งจัดการเพิ่มรักษาไว้ซึ่งชนิดพันธุ์นั้นๆ  ขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯโดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำโครงการหลายโครงการ ในหลายพื้นที่สำหรับฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าที่มีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

เช่น โครงการฟื้้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยวางระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพในผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ และมีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการป้องกันและจับกุมผู้กระทำผิด จัดตั้งสถานีวิจัยสัตว์ป่าในผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่เพื่อดำเนินงาน การติดตามประเมินประชากรและความหนาแน่นของเสือโคร่งและเหยื่อในผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ ติดตามการใช้ประโยชน์แนวเชื่อมต่อ (corridor)

และการปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อดึงดูดสัตว์ป่าในพื้นที่่เข้ามาใช้ประโยชน์แนวเชื่อมต่อ การนำข้อมูลทางวิชาการจากสถานีวิจัยสัตว์ป่ามาใช้เพื่อการวางแผนและจัดการในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ สร้างอาสาสมัครเพื่่อช่วยงานด้านการอนุรักษ์ในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

โครงการฟื้นฟูประชากรจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) ในพื้นที่ถิ่นอาศัยเดิมในธรรมชาติ จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติมีการกระจายเพียง 7 แห่ง และมีประชากรในแต่ละที่น้อยมาก จึงมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ธรรมชาติค่อนข้างสูง อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม บริเวณลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

จับแม่จระเข้ที่เฝ้าไข่ได้ 1 ตัว เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2557 และจากการฝากอนุบาลไข่ เมื่อปี 2556 จำนวน 7 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน 1 ตัว โดยกรมอุทยานแห่งชาติ มีแผนการในการปล่อยจระเข้น้ำจืดคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเป็นการฟื้นฟูประชากรในพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯมีแผนการในการปล่อยจระเข้น้ำจืดคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเป็นการฟื้นฟูประชากรในพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม

โครงการฟื้นฟูและสำรวจประชากรกวางผาในประเทศไทย มีการฟื้นฟูประชากรกวางผาโดยมีการปล่อยกวางผา บริเวณกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 1 ครั้ง ดอยผาตั้ง 1 ครั้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย 2 ครั้ง และมีแผนจะปล่อยเพิ่มที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประชากรกวางผาในพื้นที่

และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยสามารถเพาะเลี้ยงกวางผาในกรงเลี้ยงได้ และมีการสำรวจกวางผาในพื้้นที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย อุทยานแห่งชาติผ้าห่มปก อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุริน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ

สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อีก 2 ชนิดที่ต้องหาทางฟื้นฟูโดยเร็ว คือ นกแร้ง หรืออีแร้ง กับนกแต้วแร้วท้องดำ โดยปัจจุบัน แทบจะไม่มีใครเจอสัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้อีกแล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับจะหมดความหวังเลยทีเดียวว่า ในอนาคตจะไม่สามารถฟื้นฟูเยียวยาให้กลับมาอีกครั้ง ความพยายามให้สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้กลับคืนสู่ถิ่นกำเนิดอีกครั้ง เปรียบเสมือนงานที่ปิดทองหลังพระ ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนกว่าจะเห็นผลสำเร็จออกมา