นักวิทย์คอแนลสำรวจปะการังพบพลาสติกทำป่วยอื้อ ธรณ์ชี้ ในทะเลไทย 1.4 แสนไร่ เสื่อม 77%

นักวิทย์ คอแนล ร่วม มอ.สำรวจแนวปะการัง ไทย พม่า อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย พบ ขยะพลาสติก ก่อโรคทำปะการังตายอื้อ น่าเป็นห่วง ประเทศไทยมีขยะทะเลอันดับ 4 ของโลก ปะการังแทบไม่ฟื้นตัว ทั้งๆที่ไม่มีปัญหาฟอกขาวมา 3 ปีแล้ว ด้าน ผศ.ธรณ์ชี้ พื้นที่ปะการังประเทศไทย 1.4 แสนไร่ แต่เสื่อมไปแล้ว 77% หรือ แสนกว่าไร่ ซัดรัฐบาลไทยไม่ลงทุนดูแลทั้งๆที่ปะการังสร้างรายได้มหาศาล

วันที่ 27 มกราคม นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) เปิดเผยว่า ข่าวใหญ่ทั่วโลกวันนี้คืองานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง Science ซึ่งพบว่าปะการังในเอเชีย-แปซิฟิก กำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากขยะพลาสติกในทะเลกว่าหมื่นล้านชิ้น และมีส่วนสำคัญทำให้เกิดโรคในปะการังเพิ่มมากขึ้นถึง 20 เท่า

โดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่นำทีมโดย Joleah Lamb แห่งมหาวิทยาลัย Cornell และ James Cook University และคณะได้มีการเก็บข้อมูลปะการัง 159 แห่งในประเทศไทย พม่า อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย โดยศึกษาสุขภาพของปะการังกว่า 124,000 โคโลนี พร้อมกับสำรวจการปรากฏของขยะพลาสติกที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.5 เซนติเมตร

นายเพชร กล่าวว่า ในงานวิจัยนั้น ระบุว่า การสำรวจพบว่าปะการังที่ไม่พบพลาสติกมีโอกาสเป็นโรคราว 4% ในขณะที่ในปะการังที่พบขยะพลาสติกมีโอกาสเป็นโรคสูงถึง 89% โรคที่พบหลายโรคเช่น White Syndrome Black band Syndrome โรคดังกล่าวนี้ อาจฆ่าปะการังทั้งกอได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง คณะวิจัยสันนิษฐานว่าขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆอาจเป็นตัวนำโรคสำคัญ ในขณะที่ขยะชิ้นใหญ่อาจทำให้เกิดการแตกหัก เกิดบาดแผล บดบังแสงแดด หรือทำให้เกิดภาวะออกซิเจนต่ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสภาวะที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคทั้งสิ้น ทั้งนี้ ปะการังเป็นสัตว์เหมือนกับเรา และมีเนื้อเยื่อที่บอบบางมาก จึงเกิดบาดแผลและติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งถ้าสัมผัสกับขยะพลาสติกที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคสารพัด

ผลการสำรวจพบขยะพลาสติกแทบในทุกแนวปะการัง โดยพบมากที่สุดที่อินโดนีเซีย ราว 26 ชิ้นต่อพื้นที่ปะการัง 1,000 ตารางเมตร และน้อยที่สุดคือออสเตรเลียที่มีการจัดการขยะดีที่สุด งานวิจัยชิ้นนี้ประเมินว่าในปัจจุบันมีขยะพลาสติกในแนวปะการังมากถึง 1 หมื่น 1 พันล้านชิ้นในเอเชียแปซิฟิก และคาดว่าจะมีขยะเพิ่มขึ้นอีก 40% ใน 7 ปีข้างหน้า หมายความว่าจะขยะพลาสติกในแนวปะการังมากถึง 1 หมื่น 6 พันล้านชิ้นในปี 2025

ประเทศไทย และ อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่สร้างขยะทะเลมากที่สุดในโลก โดยปีะเทศไทยมีขยะทะเลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากอินโดนีเซีย จากกลุ่มประเทศที่นักวิจัยไปเก็บข้อมูล และมีขยะทะเลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ผลงานวิจัยชิ้นนี้เปิดเผยถึงผลกระทบสำคัญต่อแนวปะการัง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและมูลค่ามหาศาลในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว

นายเจมส์ ทรู (Dr. James True) นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยในครั้งนี้ ระบุว่า นี่เป็นข่าวร้ายล่าสุดของปะการังที่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากหลากหลายด้าน ทั้งประมงผิดกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว แต่เราสิ้นหวังไม่ได้ ข่าวดีก็คือปะการังหลายแห่งในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพในการฟื้นตัวได้ดี จึงต้องยิ่งเน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้าน ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปี 2551-2552 มีการสำรวจความสมบูรณ์ของพื้นที่ปะการังในทะเลประเทศไทย พบว่า ในจำนวนปะการังประมาณ 1 แสน 4 หมื่นไร่ พบมีความเสื่อมโทรมเสียหาย 30% หรือประมาณ 42,000 ไร่ ในขณะนั้นมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประมาณ 14 ล้าน 8 แสนคน แต่ล่าสุดที่สำรวจปี 2560 พบว่า มีแนวปะการังเสื่อมโทรมและเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 77% จากพื้นที่ 1 แสน 4 หมื่นไร่ หรือราว 107,800 ไร่

ขณะที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 34 ล้านคน สาเหตุหลักๆที่ทำให้ปะการังเสื่อมโทรมคือ ปัญหาน้ำเสีย ที่แก้ไม่เคยได้ผลเลย พบว่า โรงแรม รีสอร์ต รวมทั้งบ้านเรือนประชาชนริมน้ำนั้นปล่อยน้ำเสียเข้าระบบบำบัดแค่ 30% เท่านั้น ที่เหลือ ทิ้งโดยตรงลงทะเลทั้งหมด นอกจากนี้ก็มีตะกอนดิน ที่เกิดจากการปรับพื้นที่ถนนริมทะเล รวมทั้งเรื่องใหม่ที่หลายคนคิดไม่ถึงมาก่อนว่าจะมีความรุนแรง เป็นต้นเหตุให้ปะการังเสื่อมโทรมและเสียหาย นั่นคือ เรื่องขยะพลาสติกที่ก่อให้ปะการังติดเชื้อโรค และลุกลาม จนตายไปจำนวนมาก

“ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดมาจากคนทำทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวมาก และยังไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ดีนัก ทั้งๆที่ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทย ไม่ได้มีปัญหาปะการังฟอกขาวเลย แต่ปะการังก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวตามที่คาดการณ์เอาไว้เลย ซึ่งความเสียหาย 77% นี้ถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวลไม่ใช่น้อย ผมคิดว่า รัฐบาลควรใส่ใจ และลงทุนดูแลปะการังในประเทศเราให้มากกว่านี้ เพราะปะการังเป็น 1 ในไม่กี่อย่าง ที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลกับประเทศ”ผศ.ธรณ์ กล่าว

วันเดียวกัน มีรายงานข่าว จาก เกาะบิดะนอก หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มีเรือชื่อแฮ็ปปี้สตาร์ นำกลุ่มนักดำน้ำชาวญี่ปุ่นลงไปดำน้ำ และทำกิจกรรมถ่ายภาพกับป้ายไวนิลแสดงความยินดีกับการดำน้ำครบ Dive ที่ 200 ที่ภูเก็ต เพื่อจะใช้ไปโฆษณาที่ญี่ปุ่น ซึ่งการกระทำของกลุ่มนักดำน้ำญี่ปุ่น กลุ่มดังกล่าว สร้างความเสียหายให้กับแนวปะการังในพื้นที่ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก

นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี กล่าวว่า ตรวจสอบเบื้องต้น เมื่อกลุ่มนักดำน้ำชาวญี่ปุ่นทำกิจกรรม ถ่ายรูปใต้ทะเลเสร็จแล้วก็น้ำอุปกรณ์ป้ายไวนิลทั้งหมดกลับคืนไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตามในวันที่ 29 มกราคม นี้ เจ้าหน้าที่จะเข้าสำรวจเพิ่มเติมในพื้นที่ว่ามีอะไรเสียหายมากน้อยแค่ไหน