มองสถานการณ์หมูให้ลึก กำลังซื้อกลุ่มรายได้ปานกลาง-รายได้น้อย ถดถอย…ทำราคาตก : โดย อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ

ปัญหาราคาเนื้อหมูที่ตกต่ำนับจากกลางปี 2560 ที่ผ่านมาและยังคงต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ ทำให้ผู้เลี้ยงเดือดร้อนกันไม่น้อย แต่ปัญหานี้ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ต้องเรียกว่าเกิดขึ้นซ้ำซากมากกว่า เพราะว่าเมื่อใดที่ราคาหมูสูงขึ้น ก็จะจูงใจให้ผู้เลี้ยงพากันหันมาขยายการเลี้ยงมากขึ้น ในขณะที่คนยังกินเท่าเดิม จึงเกิดปัญหาล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำ เมื่อนั้นเกษตรกรก็จะค่อยๆ ลดปริมาณการเลี้ยงลง บางรายถึงกับต้องเลิกกิจการกันไปเลยก็มี จนปริมาณลดน้อยลงมากราคาก็เริ่มปรับสูงขึ้นวนเวียนเป็นวัฏจักรหมูแบบนี้มาตลอด

วันนี้วัฏจักรหมูก็กลับมาอีกครั้ง เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ราคาหมูเป็นตกต่ำติดต่อกันกว่าครึ่งปี และยังคงมีแนวโน้มราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เกษตรกรเคยขายหมูเป็นหน้าฟาร์มได้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้กลับขายหมูได้เพียงกิโลกรัมละ 40-48 บาทเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยดีดตัวไปถึง 58-60 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว

นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี พูดถึงปัญหาเรื่องนี้ว่า แม้ว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนทั้งปี 2560 จะเติบโตประมาณ 3% ซึ่งใกล้เคียงกับ GDP รวมของประเทศ แต่กำลังซื้อของครัวเรือนไทยยังไม่ดีขึ้น ตัวเลขรวมที่ดีมาจากการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูงค่อนข้างดี สะท้อนจากยอดขายสินค้าราคาสูงโดยเฉพาะรถยนต์นั่งที่มีอัตราการเติบโตสูง แต่การใช้จ่ายของผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยยังคงซบเซา เห็นได้จากรายจ่ายในสินค้าจำเป็นอย่างเช่นอาหาร ที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก บวกกับภาวะต้นทุนสูงจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพดที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์มากที่สุดกลับปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ในระดับ 9.25-9.50 บาทต่อกิโลกรัม ตลอดจนต้นทุนการป้องกันโรคที่เพิ่มขึ้นจากภาวะอากาศที่แปรปรวนในช่วงรอยต่อของฤดูกาล

ปัญหาผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยที่เป็นกลุ่มใหญ่ในสังคมที่มีกำลังซื้อลดลง ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอยลงไปมาก การบริโภคที่ตกต่ำทำให้หมูมีปริมาณสะสมมาก ราคาหมูจึงลดลงตามไปด้วย ประกอบกับการส่งออกหมูมีชีวิตไปประเทศรอบบ้าน ที่ส่วนใหญ่ปลายทางที่ประเทศจีนลดลงจากการเพิ่มการผลิตของจีน ทำให้ปี 2560 ตัวเลขนี้หายไปเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากกรมปศุสัตว์ได้เปิดเผยตัวเลขการส่งออกที่ลดลงไปเกือบ 70%

ส่วนปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นอีกสาเหตุของปัญหา แม้ว่าจะมีการวางแผนการเลี้ยงล่วงหน้าให้เหมาะสมกับภาวะการบริโภคก็ตาม แต่ขณะนั้นการบริโภคไม่ได้ตกต่ำขนาดนี้ และยังมีตลาดประเทศเพื่อนบ้านต้องการบริโภคหมูคุณภาพจากไทย

กำลังซื้อผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศที่ลดลงไปมาก ส่งผลกระทบกับสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมู ไข่ไก่ และไก่เนื้อ ที่ราคาลดลงเช่นกัน โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องขายไข่ไก่ในราคาต่ำกว่าต้นทุนติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี ส่วนเกษตรกรไก่เนื้อต้องแบกรับภาระขาดทุนมากว่าครึ่งปีแล้ว ภาวะที่เกษตรกรค่อนประเทศต้องประสบปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำเช่นนี้ ทำให้โอกาสด้านการเติบโตของรายได้เกษตรกรยังมีจำกัด และหลายคนมีปัญหาหนี้สินที่ต้องแบกรับอยู่ ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ก็คือผู้บริโภค นี่จึงเป็นอีกสาเหตุของการบริโภคที่ซบเซาในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะประคับประคองอาชีพนี้ต่อไปด้วยการพยายามระบายหมูออกสู่ตลาด เพื่อลดความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะตลาดที่ถดถอย หลายฟาร์มจำยอมขายหมูถูกหรือขายหมูเล็กเพื่อหนีปัญหา บางคนต้องขายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะโดนกดดันด้านราคาจากพ่อค้าคนกลาง

Advertisement

วันนี้เกษตรกรยอมแบกรับภาระขาดทุนตัวละ 1,500-2,000 บาท เพื่อคงอาชีพนี้ไว้ เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภค หากต้องทิ้งอาชีพนี้แล้ว แน่นอนว่าในอนาคตปริมาณหมูที่ลดลงจะผลักดันราคาขายในประเทศให้ขยับขึ้นอย่างแน่นอน

จะว่าไปแล้วปัญหานี้ก็ใช่ว่าจะไร้ทางแก้ แต่ต้องมีการวางแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งออกเป็นแผนระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว สำหรับระยะสั้น อาจทำโดยการรณรงค์การบริโภคให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคเนื้อสุกรในรูปแบบต่างๆ ส่วนระยะกลาง สามารถทำได้ด้วยการตัดวงจรการผลิต เช่น การทำลูกหมูหันและการเร่งปลดแม่พันธุ์สุกรที่มีอายุเกิน 5 ท้อง ก็จะส่งผลให้อีก 5 เดือนข้างหน้า ผลผลิตสุกรที่ออกมามีปริมาณที่ลดลง สำหรับระยะยาว คงต้องแก้ปัญหาด้วยการผลักดันให้มีการดำเนินการโดยโต้โผใหญ่ของวงการเลี้ยงหมู คือ คณะกรรมการนโยบายสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) อาทิ การจดทะเบียนฟาร์มเพื่อให้ได้ทราบปริมาณการผลิตและการบริโภคที่เหมาะสม

Advertisement

ส่วนเรื่องปริมาณการเลี้ยงหมูก็ต้องให้ผู้เลี้ยงเป็นคนแก้ไข โดยมีภาครัฐเป็นโต้โผใหญ่ด้วยการใช้กระบวนการทางกฎหมายและการบังคับใช้ให้สามารถควบคุมปริมาณ และรู้ปริมาณที่ชัดเจนของผู้เลี้ยง โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของเกษตรกรได้มากกว่านี้ เพราะมีตัวบทกฎหมายอยู่ในมือ

ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเอาจริงเอาจังกับการผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น จากที่ปัจจุบันมีการส่งออกได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากติดอุปสรรค ทั้งเรื่องโรคระบาดโดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย หรือระบบมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้า อาทิ ระบบอาหารปลอดภัย และหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)

ดังนั้น ฟาร์มเลี้ยงหมูของไทยก็ต้องปรับปรุงการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐาน และเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์หมูของไทย สมาคมที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมกับภาครัฐศึกษาตลาดต่างประเทศและเร่งเดินหน้าพัฒนาทันที โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกหมูไปยังประเทศจีนที่มีผู้บริโภคเป็นจำนวนมากในลักษณะ G to G หรือรัฐต่อรัฐ อาจจะทำโดยการลงนามความร่วมมือ MOU หากทำได้เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

“เราอยากเห็นความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งจากภาครัฐและเกษตรกรทั้งรายเล็ก-กลาง-ใหญ่ ต้องหาแนวทางคิดแก้ไขทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อคงอาชีพคนเลี้ยงหมูของพวกเราเอาไว้ รายใหญ่ก็ต้องช่วยรายกลางรายย่อยให้ก้าวไปพร้อมกัน การแก้ปัญหาต้องอยู่บนพื้นฐานของความอยู่รอดของส่วนรวม” นิพัฒน์กล่าว

ทั้งหมดจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ

อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ
[email protected]

 

ที่มา : มติชนออนไลน์