ดัชนีผู้บริโภคเชื่อมั่นสูงรอบ 3 ปี เหตุศก.-ส่งออกตลาดหุ้นดีเกินคาด กังวลขึ้นค่าแรง-เลื่อนเลือกตั้งทำสะดุด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมในเดือนมกราคม 2561 ปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 80 จากเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 79.2 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 36 เดือน  นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต ปรับเพิ่มขึ้น 54.7 และ 90.8 ตามลำดับ เพิ่มจากเดือนก่อนหน้า ที่ 53.6 และ 90.2 ตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สูงสุดรอบ 9 เดือน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สูงสุดรอบ 58 เดือน ตามลำดับ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 67 จาก 66.2 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดรอบ 34 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ เพิ่มขึ้น 74.9 จาก 74 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สูงสุดรอบ 57 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เพิ่มขึ้น 98 จาก 97.5 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สูงสุดรอบ 37 เดือน

“ดัชนีที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจดีเกินคาด การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตลาดหุ้นไทยทะลุ 1,800 จุด สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวปรับตัวดี” นายธนวรรธน์ กล่าวและว่า ทิศทางของดัชนีดีขึ้นและเป็นขาขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ยังไม่ทั่วถึง คนต่างจังหวัดและคนมีรายได้น้อยยังรู้สึกการหารายได้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเรื่องที่ยังต้องจับตาและเป็นสัญญาณเชิงลบว่าจะกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะต่อไปหรือไม่ ได้แก่ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องลดลง ประชาชนกังวลข้าวของจะมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันลดลงครั้งแรกรอบ 4 เดือน ที่ระดับ 70.5 จากเดิม 72.3 ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว และประชาชนกังวลว่าการเลื่อนเลือกตั้งอาจส่งผลถึงเศรษฐกิจโดยรวม โดยอยู่ที่ระดับ 86.2 จากเดิม 90.8 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเป็นอาการระยะสั้น เศรษฐกิจไม่ได้เสียการทรงตัวจะยังรักษาโมเมนตัมในทิศทางฟื้นตัวได้ คาดว่าในเดือนภุมภาพันธ์และมีนาคมนี้สถานการณ์จะคลายตัว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรอบ 4.2-4.5% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.50-32.00 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐที่ไม่ต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าไปมากกว่านี้ จึงคาดว่าจะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ 5% ทั้งนี้จะเริ่มเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ปลายไตรมาส 2

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน