สรท.ชี้บาทแข็ง-ค่าแรงฉุดส่งออก เหลือ 3.5% เอกชนโวย จี้รัฐแก้ด่วน ขอเลื่อนปรับ 1 ปี/ลดหย่อนภาษี 2 ปี

สรท.-กกร.ประสานเสียงปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก ชี้ปล่อยบาทแข็ง 30-31 บาท บวกขึ้นค่าแรง เสี่ยงสูญรายได้ส่งออก 5 พันล้านดอลล์ เป้าส่งออกหลุด 5% เหลือ 3.5% จีดีพี 3.8-4.5% เสนอให้เลื่อนปรับค่าแรงไปอีก 1 ปี และขยายเวลาลดหย่อนภาษี 2 ปี

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ปี 2561 สรท.ยังคงเป้าส่งออกขยายตัว 5.5% แต่ยังไม่นับรวมปัจจัยเงินบาทแข็งค่าขึ้นและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยตั้งเป้าหมายภายใต้สมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมัน 64-67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลัก ผู้ผลิตสินค้าไทยปรับตัวสู่ตลาดดิจิทัลโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าเกี่ยวเนื่องจากน้ำมันสูงขึ้น

“ตอนนี้ปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก ตั้งแต่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นต่อเนื่อง จากต้นปีบาทแข็งค่าแล้ว 2.58% และแข็งค่า 11% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หากบาทแข็งระดับ 30-31 บาท ประกอบกับต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้นจากปรับขึ้นค่าแรง เบื้องต้นประเมินทำให้รายได้ส่งออกสูญเสียไป 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และกระทบตัวเลขส่งออกเหลือ 4.3-5%” นางสาวกัณญภัค กล่าวและว่า สรท.จึงเสนอขอให้ภาครัฐเลื่อนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปก่อน 1 ปี ให้ผู้ประกอบการปรับปรุงและเพิ่มทักษะแรงงานฝีมือด้วยเทคโนโลยี และขยายเวลาลดหย่อนภาษีเอสเอ็มอี 1.15 เท่า เป็น 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดปลายปีนี้ และขอลดเงินสมทบที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้กับประกันสังคมจาก 5% เหลือ 1-3 % ในช่วงค่าเงินบาทผันผวนและได้รับผลกระทบจากขึ้นค่าแรง และมาตรการช่วยเหลืออื่น เช่น ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้และเงินบาทแข็งค่า ทำให้ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักได้รับผลกระทบหนักสุด คือ อุตสาหกรรมอาหาร สินค้าเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ดังนั้น รัฐบาลควรจัดแหล่งเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยไม่ต้องคืนเงินต้นในช่วงปรับตัวให้เอสเอ็มอี เพื่อชดเชยช่วงปรับตัวกับค่าแรงและค่าเงินบาทแข็ง สนับสนุนนำหุ่นยนต์และระบบผลิตอัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงานคน รวมถึงรัฐบาลต้องวางแผนล่วงหน้าและจัดทำแผนระยะยาวในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอนาคต ให้สอดคล้องกับทักษะของแรงงาน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตาคือ เวียดนาม มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และอาจมากกว่าไทย เพราะไทยเจอปัญหาเงินบาทแข็งค่าและการปรับขึ้นค่าแรง

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุมกังวลใจเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วในระยะเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา และตอนนี้ค่าเงินผันผวนค่อนข้างสูง จะกระทบความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องระมัดระวังให้ผู้ปฏิบัติอยู่ในกรอบ ซึ่ง กกร.จะผลักดันเอกชนไปลงทุนต่างประเทศและชำระหนี้

ต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงซื้อเงินตราต่างประเทศและฝากในรูปแบบเงินตราต่างประเทศมากขึ้น แต่ที่น่าห่วงคือ เอสเอ็มอี ขณะที่ปัจจัยบวกยังเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ที่ต้องติดตามคือมาตรการทางการค้าของสหรัฐอาจเพิ่มเติมก่อนการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ และความผันผวนค่าเงินสหรัฐ ส่วนเศรษฐกิจไทยมองว่าขยายตัวดีกว่า 2560 ผลบวกจากงบประมาณเพิ่มเติมภาครัฐอีก 1.5 แสนล้านบาท ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.8-4.5% จากการส่งออกขยายตัว 3.5-6% และเงินเฟ้อสูงขึ้น 1.1-1.6%

นายปรีดี กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบ คิดเป็นต้นทุนผลิตของอุตสาหกรรมเฉลี่ย 8-14% เมื่อประกาศทางปฏิบัติไม่ได้ปรับขึ้นทุกคนแต่ปรับขึ้นจริงเพียง 20% ของแรงงานทั่วประเทศ น่าจะส่งผลกระทบค่าแรงเพิ่มขึ้น 2% และคิดเป็นต้นทุนทางธุรกิจ 0.3%

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน