ชี้บาทแข็งส่งออกสูญ 5 พันล.ดอลล์ ให้ชะลอขึ้นค่าแรง 1 ปี – 3 อุตสาหกรรมกระทบหนัก

สภาผู้ส่งออกจี้ชะลอขึ้นค่าแรงออกไปอีก 1 ปี ให้ผู้ประกอบการปรับตัว หวั่นค่าบาทแข็งฉุดมูลค่าส่งออกปีนี้หายไป 5,000 ล้านเหรียญ 3 อุตสาหกรรมเสี่ยงเสียหายจากค่าแรง กกร.ชี้ค่าเงินบาทผันผวน เดือนเดียวแข็งค่าถึง 4% จากปีก่อนทั้งปีรวม 10%

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกธันวาคม 2560 มีมูลค่า 19,741 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.6% ส่งผลให้ทั้งปีที่ผ่านมามีมูลค่า 236,694 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.9% สูงสุดในรอบ 6 ปี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะโต 3.9% การส่งออกปี 2561 คาดว่าจะเติบโต 5.5% มูลค่า 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีดีพี จะขยายตัวที่ 4%

ปัจจัยเสี่ยงคือค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลให้ค่าบาทแข็งขึ้น ปีนี้บาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 2.85% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะนโยบาย American First ของสหรัฐอเมริกา

“ผลกระทบค่าเงินบาทแข็ง และปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจส่งผลให้สูญเสียรายได้จากการส่งออก ประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.5% ของมูลค่าการส่งออก อาจทำให้การส่งออกเติบโตลดลง เหลือแค่ 3.5%” นางสาวกัณญภัค กล่าว

การปรับค่าแรงที่จะมีผลในวันที่ 1 เมษายน นี้ คาดว่า ผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และไก่สดแช่เย็น-แช่แข็งแปรรูป รัฐบาลควรชะลอการปรับขึ้นค่าแรงออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการได้ปรับตัว เป็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรใหม่

นายปรีดี ดาวฉาย กก.ผจก.ใหญ่ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.มีความกังวลต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วในระยะเพียง 1 เดือน ที่ผ่านมา จากช่วงเดือนมกราคม 2561 แข็งค่าถึง 4% จากปีที่ผ่านมาแข็งค่า 10% แต่เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาอ่อนค่าลง สะท้อนค่าบาทมีความผันผวนค่อนข้างสูง กระทบ ขีดความสามารถการแข่งขันผู้ส่งออกไทย การคาดการณ์ ค่าเงินบาทระยะข้างหน้าให้มีความแม่นยำได้ลำบาก

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด