เยาวชนไทยสุดเจ๋ง คว้ารางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยม วันนักประดิษฐ์แห่งชาติ 2561

ปิดงานอย่างยิ่งใหญ่สร้างความอิ่มเอมใจไม่รู้ลืม กับงานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติประจำปี 2561  โดยในปีนี้มีทัพผลงานการประดิษฐ์คิดค้นจัดแสดงล้นงานกว่า 2,000 ผลงานจากนักคิดของไทยและนานาชาติรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ประชันผลงานกันแบบไม่มีกั๊ก ในวันปิดงานปีนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานมอบรางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ทั้งในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ได้มีพลังใจในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อมาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้านต่อไป

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นในระดับเยาวชนภายใต้โครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่” ขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนได้ร่วมแข่งขันประกวดสิ่งประดิษฐ์ และนำเสนอแนวคิดในการประดิษฐ์ผลงานมีเยาวชนทั้งนักเรียน และนักศึกษาทั่วประเทศนำผลงานเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 550 ผลงาน แบ่งประเภทรางวัลออกเป็น 3 ประเภท คือประเภท มัธยมศึกษา 4 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์เพื่อการเกตร สิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคมและภูมิปัญญาไทย สิ่งประดิษฐ์เพื่อพลังงาน และ สิ่งประดิษฐ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและทุพพลภาพ ประเภทอาชีวศึกษาและ มหาวิทยาลัย 5 กลุ่มเรื่องได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มเกษตร กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มสิ่งแวดล้อมและพลังงาน และกลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม

โดยปีนี้มีโรงเรียนและ มหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลต่างๆมากมายอาทิ ระดับมัธยมศึกษา รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อการเกษตร ได้แก่ ผลงานเครื่องปั๊มพลังงานสูญญากาศ โรงเรียนศรีรัตนวิทยา  :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคมภูมิปัญญาไทย ได้แก่ ผลงานชุดกระเป๋าพยาบาลอัจฉริยะ จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์เพื่อพลังงาน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ผลงาน  พลาสติกชีวภาพจากเปลือกกล้วย  โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยพิษณุโลก :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ ผลงาน การพัฒนารูปแบบอักษรเบรลล์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยโปรแกรม Fontforge จากโรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี

ระดับอาชีวศึกษา รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ อาหาร ได้แก่ ผลงาน  อุปกรณ์กดเส้นอเนกประสงค์ จากวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด:: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ เกษตร ได้แก่ ผลงาน เครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือกระบบชีวมวลและเซลล์แสงอาทิตย์ จากวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์กลุ่มสาธารณสุข ได้แก่   เสาน้ำเกลือผู้ป่วยระยะพักฟื้น 3 in 1 จากวิทยาลัยเทคนิคระนอง :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมืออัจฉริยะ ระบบเครื่องกลฯ ได้แก่ ชุดจุดตรวจและสกัดกั้นออนไลน์เพื่อความมั่นคง วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมฯ ผลงานเครื่องย้อมสีเส้นไหมและฝ้ายแบบใช้หม้อต้มประหยัดพลังงาน วิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ได้แก่ ทุ่นผลิตพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นทะเลสำหรับอนุรักษ์แนวปะการัง จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

ระดับอุมศึกษา รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อความมั่นคง ได้แก่ผลงานเรื่อง ชุดตรวจจีโนไทป์ของหมู่เลือดเอบีโอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ::รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ เพื่อการเกษตร ได้แก่ผลงานเรื่อง เอนไซม์โปติเอสลูกผสมที่มีคุณสมบัติทนต่ออุณหภูมิสูงจากแบคทีเรีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ เพื่อพลังงานฯ ได้แก่ผลงาน เชื้อเพลิงดีโซฮอลล์ที่เติมส่วนกลั่นกรดไขปาล์มเป็นสารอิมัลซิไฟเอร์และส่วนผสมดีเซล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ฯ ได้แก่ ผลงานการพัฒนาพาหนะขนาดจิ๋วสำหรับใช้งานในเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคมและภูมิปัญญาไทย ได้แก่ผลงาน รถสามล้อไฟฟ้าตัดหญ้าสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ วิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม

งานวันนักประดิษฐ์ 2561

ปิดท้ายที่ผลงานนักประดิษฐ์รุ่นจิ๋วที่ถือว่าเป็นกลุ่มนักประดิษฐ์ที่อายุน้อยที่สุดของงานในปีนี้เลยก็ว่าได้ โดยนักประดิษฐ์รุ่นจิ๋วแต่แจ๋วในปีนี้คือ คณะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ซึ่งเด็กๆได้นำ งอบติดแอร์ อันเป็นผลงานจากการคิดสร้างสรรค์มาโชว์ในปีนี้อีกด้วย

การประกาศรางวัลในวันนี้ สร้างนักประดิษฐ์ฝีมือเอกที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การประกาศผล ประกวดสิ่งประดิษฐ์ประจำปี 2561 ในวันนี้เป็นเพียงหนึ่งความสำเร็จของก้าวแรกเท่านั้น แววตาแห่งความมุ่งมั่นของทีมนักประดิษฐ์คิดค้นทุกคนที่มาร่วมงาน ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่พร้อมจะขับเคลื่อนความคิด ในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปด้วยเพราะตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมแสดงผลงาน ได้รับความสนใจจากผู้มาเยี่ยมชมงานอย่างไม่ขาดสาย คำชมเชย การตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นอย่างใส่ใจตลอดทั้ง 5 วันที่ผ่านมา เป็นการเติมพลังให้นักคิดนักประดิษฐ์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี สำนักงานคณะกรรมการวิชัยแห่งชาติ พร้อมที่จะเปิดเวทีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้เป็นต้นกล้าทางความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์ที่ทรงคุณค่าเพื่อการพัฒนาความก้าวหน้าของประเทศต่อไป

บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่ง  ของนักประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลดังนี้

ผลงาน “การพัฒนารูปแบบอักษรเบรลล์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยโปรแกรม Font Forge” รับรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาส ระดับมัธยมศึกษา เป็นผลงานของเยาวชนคนเก่งจาก โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดชลบุรี นายพันธุ์ชัช ศิริวัน และ นายสถาพร จิรธรรมกุล นักเรียนชั้นม.5 ที่ได้นำกล่าวถึงที่มาในการคิดค้นและพัฒนาแนวคิดนี้ว่า ที่ผ่านมาตนและเพื่อนได้ไปแข่งขันในรายการหนึ่งเกี่ยวกับการคิดค้นโปรแกรมพัฒนาอักษาเบรลล์ และมีความคิดว่าอยากจะต่อยอดแนวความคิดนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีความพิการทางสายตาได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป อันเป็นการลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกด้วย ดังนั้นจึงได้คิดค้นโปรแกรม Font Forge ขึ้นมาโดยใช้เวลาในการคิดค้นอยู่ประมาณ 4 เดือนเต็มกว่าที่จะได้ผลงานชิ้นนี้ออกมา

“ก่อนที่จะคิดโปรแกรมนี้ขึ้นมา ผมและเพื่อนได้ไปศึกษาและรับรู้ปัญหาของเด็กที่มีความพิการทางสายตาที่โรงเรียนในเมืองพัทยา และก็ทำให้ได้รู้ว่าเด็กเหล่านี้มีปัญหาในเรื่องของการเข้าถึงวรรณยุกต์ และสระ เพราะอักษรเบรลล์ ทั่วไปจะเขียนสระกับวรรณยุกต์รวมกันไป เช่นคำว่าเรียน อักษรเบรลล์ทั่วไปจะใช้ว่า ร-เอีย-น แต่สำหรับโปรแกรมของเราเมื่อเราพิมพ์คำว่า “เรียน” ในคอมพิวเตอร์โดยใช้ฟร้อนท์นี้ ก็จะปรากฎอักษรทีละตัวในการสะกด เป็น เ-ร-เอีย-น เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆผ่านอักษรเบรลล์ได้มากขึ้น”

 

ผลงาน “กระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ” เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์รับรางวัลชนะเลิศ สิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคมและภูมิปัญญาไทย เป็นผลงานของ เด็กหญิงจ้าวไหม ตั้งศิริพัฒน์  เด็กหญิงสุพิชญาณ์ เหมรัญช์โรจน์  และ เด็กหญิงกุลณัฏฐ์ โตวิกกัย นักเรียนชั้นมัธยศึกษาชั้นปีที่1 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  บอกถึงที่มาในการคิดค้นชุดกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ ว่า เพราะตัวเองและเพื่อนๆเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียน และบางครั้งก็เห็นเพื่อนนักกีฬาด้วยกันได้รับบาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา และถ้าไม่ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี อาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่รุนแรงได้ ดังนั้นจึงได้ร่วมกันทำกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะขึ้นมาด้วยงบประมาณหนึ่งแสนบาท

ชุดกระเป๋าพยาบาลอัจฉริยะ

“ภายในกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ นั้นประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ กระเป๋า,รถเข็น และ เปลสนาม ซึ่งภายในกระเป๋าก็แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ประกอบด้วย แอลกอฮอลล์ เบลตาดีน สำลี เป็นต้น และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลกู้ชีพ ประกอบด้วย อุปกรณ์การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า และเครื่อง CPR ใช้สำหรับผู้ที่เป็นลมหมดสติ แต่ถ้าปฐมพยาบาลแล้วยังไม่ดีขึ้น เราก็มี ESI EMERGENCY CALL เพื่อสำหรับกดปุ่มเรียกหน่วยพยาบาลที่อยู่ในระยะใกล้เคียง เพื่อมารับตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ถัดมาคือรถเข็นผู้ป่วยซึ่งสามารถพับเก็บเป็นกระเป๋าเดินทางล้อลากได้ สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 120 กิโลกรัม และเปลสนามก็เช่นเดียวกันสามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 120 กิโลกรัมอีกหนึ่งความพิเศษของกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ นั้นสามารถพับเก็บได้ไปได้ทุกที่ด้วยน้ำหนักที่เบาสบายเพียง 6-7 กิโลกรัมเท่านั้น”

 

ผลงาน รถสามล้อไฟฟ้าตัดหญ้าสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ได้รับรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ระดับอุดมศึกษา ปีนี้เป็นผลงานของนักศึกษาจาก วิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งได้ร่วมกันคิดค้น โดย นายคุณัชญ์ รักน้ำเที่ยง แนวคิดในการประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้ว่า ในสังคมปัจจุบันนี้มีคนพิการและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพเหล่านั้น บางคนสามารถหาเลี้ยงชีพได้ บางคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เนื่องจากขาดอุปกรณ์เสริมในการใช้ชีวิต ดังนั้นทีมงานทุกคนจึงได้ดัดแปลงรถจักรยาน เพื่อเป็นสามล้อไฟฟ้าและสามารถใช้ในการตัดหญ้าในพื้นที่ต่างๆ สำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุเพื่อช่วยคนในครอบครัวและยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัว“เราได้นำรถจักรยานของผู้พิการมาดัดแปลงด้วยการเอาคันโยกออก และใส่มอเตอร์ไฟฟ้าของรถจักรยานญี่ปุ่นเข้าไปแทนที่ ส่วนที่ตัดหญ้านั้นเราได้ใส่ไว้ด้านใต้ท้องจักรยานโดยติดตั้งแบตเตอรี่ไว้ด้านหลัง เมื่อเปิดปุ่มใช้งานจักรยานไฟฟ้าแล้ว ถ้าหากต้องการตัดหญ้าด้วยก็กดปุ่มที่อยู่ด้านซ้ายมือ และเมื่อเลิกใช้ก็กดปุ่มเดิม จากการทดสอบวิ่งทางตรงบนถนนที่ไม่มีการตัดหญ้า รถสามารถวิ่งได้ 20-25 กม ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ถ้ารถทำการตัดหญ้า ก็จะวิ่งได้ประมาณ 20-25 กม.” คุณัชญ์ อธิบาย

นอกจากนี้คุณัชญ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานที่คิดค้นขึ้นมา เพราะสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้นอกจากจะเป็นอุปกรณ์เสริมที่ทำให้ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตแล้ว หากแต่อุปกรณ์เหล่านี้ยังทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความภาคภูมิใจในตนเองที่ยังสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามกำลังที่มีอยู่

 

ผลงาน “การพัฒนาพาหนะขนาดจิ๋วสำหรับใช้งานในเมือง”  ส่วนผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านสิ่งประดิษฐ์เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข ปีนี้เป็นผลของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ภาคเครื่องกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย เมธัส น้ำผุด และ อัศวพล สินทรัพย์ 2 นักศึกษาคนเก่ง ได้ร่วมกันเล่าถึงที่มาของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น จึงทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้รู้สึกหดหู่ เพราะไม่สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวก ดังนั้นเราจึงคิดรถจักรยานไฟฟ้าในรูปแบบกระเป๋าเดินทางสำหรับลากจูง ขึ้นมาเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ในการเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกโดยเฉพาะในเมือง

“เราได้ออกแบบมาจากต้นแบบอันเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เราได้พัฒนาให้มีความพิเศษมากขึ้น โดยเราได้ออกแบบจักรยานที่มีขนาดเล็กสามารถพับเก็บได้ โดยใช้การทำงานด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งจักรยานมีขนาดเล็กสามารถขับไปได้ทุกที่แม้แต่ในที่คับแคบก็สามารถขับเข้าไปได้ อีกทั้งยังสามารถพับเก็บใส่หลังรถเพื่อพาผู้สูงอายุไปขับเล่นในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆก็ได้ จะได้ทำให้พวกผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง จิตใจที่แจ่มใส ซึ่งรถจักรยานไฟฟ้าสามารถรองรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 120 กิโลกรัม และสามารถขับได้ในระยะสูงสุดถึง 20 กิโลเมตร”

 

ผลงาน “งอบติดแอร์” อันเป็นผลงานจากการคิดสร้างสรรค์มาโชว์ในปีนี้

น้องดาด้า-เด็กหญิงณภัทร สาตราร้าย และ น้องสมายด์-เด็กหญิงวรัชญา อินทร์ตรี อายุ 7 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หนึ่งในทีมนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์อายุน้อยที่สุดในงานปีนี้ ร่วมกันเล่าถึงที่มาในการประดิษฐ์งอบติดแอร์ให้ฟังด้วยน้ำเสียงสดใสว่า ทุกครั้งที่รับประทานข้าวที่โรงเรียนคุณครูมักบอกว่าต้องรับประทานข้าวให้หมดเพราะสงสารชาวนา อีกทั้งเห็นเพื่อนบ้านที่มีอาชีพทำนาเขาต้องตากแดดทำนา ดังนั้นจึงรู้สึกสงสารชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ จึงคิดหาวิธีช่วยเหลือ  และการทำงอบติดแอร์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยคลายความร้อนให้ชาวนาไทยได้บ้าง

งานวันนักประดิษฐ์ 2561

“พวกหนูสั่งซื้องอบทางอินเตอร์เน็ตจากนั้นก็นำงอบมาเจาะรูที่ด้านบน และนำพัดลมคอมพิวเตอร์เก่าๆมาใส่ในงอบ จากนั้นก็นำสาย USB เก่าที่ไม่ได้ใช้มาเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ และนำรังงอบมาติดกับกระหม่อมงอบด้วยลวดกำมะหยี่สานให้เป็นตะแกรงเพื่อให้วางเจลเย็นได้ แล้วนำสายรัดยางยืดมาติดเพื่อเป็นตัวล็อกเครื่องสำรองไฟ หรือ พาวเวอร์แบงค์ และจากนั้นก็ใช้สาย USB เชื่อมกับเครื่องสำรองไฟเพียงเท่านี้พัดลมก็ทำงานได้แล้ว” สองเด็กหญิงร่วมกันอธิบายอย่างคล่องแคล่ว