‘อาคม’ อ้อน ญี่ปุ่นร่วมลงทุนไฮสปีด ‘กรุงเทพฯ-เชียงใหม่’ ตัดสถานีลงลดภาระหนี้รัฐบาล

‘อาคม’ อ้อนญี่ปุ่นร่วมลงทุนไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ช่วยรัฐบาลลดภาระหนี้ ยันเป็นไฮสปีดเทรนความเร็ว 300 กม. เหมือนเดิม แต่อาจต้องตัดบางสถานีทิ้ง เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้าง คาดสรุปผลการศึกษาโครงการ เสนอ ครม.ไฟเขียว มี.ค.นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น กทม.-เชียงใหม่ ว่า ญี่ปุ่นเสนอผลรายงานการศึกษากรณีที่ฝ่ายไทยขอปรับลดต้นทุน ญี่ปุ่นเสนอว่า ถ้าลดต้นทุนต้องตัดระยะทางโครงการให้สั้นลง ยกเลิกการก่อสร้างบางสถานีออกไปเพื่อประหยัดงบ

อาทิ ช่วงเฟสแรก กทม.-พิษณุโลก อาจตัดสถานีพิจิตรออก หรือสถานีลพบุรี และมาก่อสร้างเพิ่มในภายหลัง ช่วยลดต้นทุนได้ แต่ทางไทยคิดว่าไม่คุ้มกับผู้โดยสารที่จะหายไป น่าจะมีแนวทางอื่นๆ ที่จะปรับลดต้นทุนได้

นายอาคมกล่าวถึงประเด็นความเร็วนั้น ขอยืนยันว่าจะใช้ระบบเทคโนโลยีของรถไฟชินคันเซน ความเร็วสูง 300 กม./ชม. ตามเดิม เพราะผลการศึกษาระบุว่า หากปรับมาใช้ความเร็วต่ำ ประชาชนจะเลือกเดินทางโดยระบบอื่นแทน พบข้อมูลว่า หากระยะทางไม่เกิน 500 กม. คนจะเลือกใช้รถยนต์คุ้มค่ากว่า แต่ถ้าเกิน 500 กม.ขึ้นไป หรือระยะทาง 750 กม. ส่วนใหญ่ 80-90% จะตัดสินใจเปลี่ยนจากรถยนต์มาเดินทางโดยรถไฟเพราะเป็นจุดที่คุ้มค่าสูงสุด

นายอาคมกล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยจะลดภาระงบประมาณการลงทุน จึงเสนอขอให้ญี่ปุ่นกลับไปศึกษาแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมให้กับไทยด้วย เบื้องต้นได้นำเสนอแนวทางขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนในโครงการดังกล่าว ขณะที่ญี่ปุ่นเสนอว่ามีความพร้อมที่จะให้ฝ่ายไทยกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อดำเนินโครงการ

“รัฐบาลไทยต้องการลดภาระหนี้ เสนอให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ ซึ่งญี่ปุ่นต้องกลับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และศึกษารูปแบบการร่วมทุน ทั้งการปรับลดต้นทุน และเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาอีกครั้ง ก่อนที่จะนำผลการศึกษาทั้งหมดเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติในเดือน มี.ค.นี้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญี่ปุ่นเสนอให้รัฐบาลไทยลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกทั้งหมด เหมือนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน แต่ไทยพยายามเสนอให้ญี่ปุ่นร่วมทุนด้วย เพื่อประหยัดงบประมาณ ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างพิจารณา เพราะญี่ปุ่นเกรงว่า ถ้าร่วมทุนกับรัฐบาลไทยแล้ว จะต้องใช้เป็นโมเดลในประเทศอื่นๆ ด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561