SMEs ส่งออกเครื่องเงินผวา ผู้ซื้อขอเช็กโรงงาน-กม.ฟอกเงินกระทบส่งออก

เอสเอ็มอีเครื่องประดับเงินไทยกระอัก เจอปัญหาหลายเด้งกระทบส่งออก หลายประเทศออกกฎตรวจรับรองโรงงานผ่านถึงให้นำเข้า ขณะที่กฎหมายฟอกเงินคุมเข้มผู้ซื้อต่างประเทศยังหนักอก แถมหลายประเทศหันมาทำเครื่องประดับเงินส่งออก “เวียดนาม” คู่แข่งสำคัญใช้สิทธิ์ GSP ได้เปรียบไทย เป้าหมายส่งออกปีཹ ขยายตัว 3-5%

นายวิบูลย์ หงส์ศรีจินดา นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งออกเครื่องประดับเงินในปี 2561 จากการประเมินเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3-5% โดยกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสามารถผลักดันให้เติบโตได้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ซึ่งมีประมาณ 35% ของผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินยังประสบปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน ทั้งปัญหาการไม่ได้สิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) พ่อค้าคนกลาง ซึ่งปกติจะรับซื้อไปจำหน่ายต่อเริ่มหยุดรับซื้อ เนื่องจากความต้องการหายจากเศรษฐกิจไม่ดี โดยเฉพาะตลาดยุโรปการไม่ได้สิทธิ์ GSP ส่งผลให้สินค้าไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง

ขณะเดียวกันประเทศผู้นำเข้าเริ่มวางกติกาว่า สินค้าที่จะส่งเข้าไปขายต้องผลิตจากโรงงานที่ผ่านการตรวจรับรองเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เอสเอ็มอีไทยไม่มีโรงงาน ขณะเดียวกันการขออนุญาตตั้งโรงงานใหม่มีขั้นตอนและระเบียบที่ยุ่งยาก ทำให้ผู้ส่งออกรายย่อยไม่สามารถดำเนินการได้ แต่เอื้อให้นักลงทุนต่างชาติมากกว่า ทั้งเรื่องของพื้นที่ เงินลงทุน เครื่องจักร การดูแลไม่ให้มีมลภาวะทำลายสิ่งแวดล้อม

รวมถึงเรื่องพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่กำหนดให้บริษัทผู้ผลิต ผู้ส่งออกเครื่องประดับ ต้องส่งรายละเอียดของผู้ซื้อ หรือผู้นำเข้าให้กับ ปปง. เมื่อซื้อสินค้าในมูลค่าที่กำหนดในกฎหมาย ยกตัวอย่าง ซื้อสินค้ามูลค่า 100,000 บาทขึ้นไปให้ส่งรายละเอียดของผู้ซื้อ กรณีนี้หากซื้อขายภายในประเทศอาจจะไม่มีปัญหา ผู้ซื้ออาจจะยินยอมให้ข้อมูลได้ แต่กรณีผู้ซื้อจากต่างประเทศ หากขอข้อมูลที่มาที่ไปของลูกค้า อาจจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจถึงการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการซื้อขายและการส่งออกสินค้า

นายวิบูลย์กล่าวต่อไปว่า ยังมีประเด็นเรื่องของการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการคืนภาษีให้อย่างรวดเร็วเพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถนำเงินดังกล่าวไปเสริมสภาพคล่องในการทำธุรกิจ เนื่องจากขั้นตอนในปัจจุบันล่าช้ามาก

“ในอดีตไทยมีอินเดียเป็นคู่แข่งสำคัญ แต่ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มหันมาทำตลาดส่งออกเครื่องประดับเงิน เช่น เวียดนาม กัมพูชา จีน เมียนมา แม้ตอนนี้ยังส่งออกไม่มาก แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเวียดนามได้สิทธิ์ GSP ขณะที่สินค้าเครื่องเงินของจีนขายในราคาถูกกว่าไทย” นายวิบูลย์กล่าวและว่า

นายวิบูลย์กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งนั้นไม่มีผลกระทบมากนัก ขณะที่ตัวโลหะเงินแม้มีความผันผวนในเรื่องราคา ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 17.50 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ แต่ไม่ได้ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตหรือการส่งออก ผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้เนื่องจากเป็นปัจจัยที่รับมือได้เนื่องจากรู้ถึงสถานการณ์ ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในปี 2561 ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาช่วย เช่น การผลักดันตลาดส่งออกใหม่และในการรักษาตลาดเดิม การพาไปร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อสร้างการรับรู้สินค้า โปรโมตสินค้าไทยให้กับลูกค้าใหม่ การช่วยงานวิจัยและนำนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าเครื่องประดับเงินไทย

อย่างไรก็ดี ตลาดสำคัญยังต้องรักษาไว้ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐ ยุโรป ฮ่องกง เป็นต้น ขณะที่ภาพรวมการส่งออกเครื่องประดับเงินปี 2560 มูลค่า 1,789 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยาย 14.74% โดยเฉพาะตลาดที่ขยายตัวดี ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐ จีน ฮ่องกง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ