สกว.-สวทช.ลุยเอสเอ็มอีปี3‘วิจัยได้…ขายจริง’ มอบรางวัลนักวิจัย-ผู้ประกอบการ12งานเด่น

สกว.ผนึกกำลัง สวทช. จัดสรรงบประมาณ 75 โครงการ พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร-สมุนไพรและเวชสำอาง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด “วิจัยได้…ขายจริง”  พร้อมมอบรางวัล 12 งานวิจัยเด่น ศ.เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช มโนสร้อย และคณะ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่น ส่วน “ปอย ตรีชฎา” ได้รางวัลผู้ประกอบการดีเด่น

8 กุมภาพันธ์ 2561 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ — ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ดร.ณรงค์  ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจภายใต้โครงการ “การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระยะที่ 3” โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการสนับสนุนทุนวิจัยแบบบูรณาการ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสมผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับการจัดการด้านธุรกิจ การศึกษาข้อมูลทางการตลาดเบื้องต้นและการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด “วิจัยได้…ขายจริง” จากกลไกการทำงานของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. และชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว.

ผู้อำนวยการ สกว. เผยว่า สกว.มุ่งหวังที่จะใช้กระบวนการวิจัยเข้าไปช่วยยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการ พร้อมกับศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจเบื้องต้นเพื่อใช้ข้อมูลในการตัดสินใจวางแผนการตลาดให้ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และสนับสนุนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สะดวก ดึงดูดและสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อให้การวิจัยพัฒนาเกิดผลิตภัณฑ์ที่ “วิจัยได้…ขายจริง” รวมถึงสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงโอกาสด้านต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือกับธนาคารเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

การดำเนินงานในปีแรกนั้น สกว.ได้ร่วมกับผู้ประกอบการจำนวน 76 บริษัท พัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์แล้วร้อยละ 13 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด อีกส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการผลิตหรือการตลาดร้อยละ 75 ดังตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากโครงการที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 3 สกว.จะร่วมสนับสนุนงบประมาณผ่านชุดโครงการ Innovative House ฝ่ายอุตสาหกรรม ในการจัดการทุนวิจัย โดยให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้ประกอบการที่ร่วมในโครงการ ซึ่ง สกว และ สวทช.ร่วมกันตั้งเป้าหมายจะสนับสนุนการวิจัยจำนวน 75 โครงการ แบ่งรูปแบบทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างสินค้านวัตกรรมในรูปแบบเดิมที่เคยดำเนินการมา และ 2. กลุ่มการวิจัยในระดับปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตในระดับอัพสเกล เพราะเมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้แล้วยังคงต้องศึกษาด้านต่าง ๆ ในเชิงลึกเพิ่มขึ้น เช่น การวิเคราะห์สารชีวภาพ คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิตระดับอัพสเกล เป็นต้น เพื่อให้โครงการรองรับความต้องการของผู้ประกอบการได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“โครงการนี้จะเป็นหนึ่งในโครงการที่ สกว.พยายามจะผลักดันสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ก้าวสู่การเติบโตทางธุรกิจบนฐานนวัตกรรม ที่ไม่ต้องแข่งขันกันด้วยราคาหรือแรงงานราคาถูก ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นและยั่งยืน เกิดการจ้างงานและการรับซื้อวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการวิจัยของประเทศโดยรวม โดยมีนักวิจัยและผู้ประกอบการเป็นกลไกสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”

ขณะที่ผู้อำนวยการ สวทช. ระบุว่า สวทช.มีภารกิจหลักในการสนับสนุนงานวิจัย การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนบนฐานความรู้ เป็นกำลังหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ทั้งนี้ สวทช. ได้ดำเนินโปรแกรม ITAP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 สนับสนุนเอสเอ็มอีไปแล้วไม่น้อยกว่า 7,000 ราย โดยสรรหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงกับโจทย์ความต้องการของเอสเอ็มอีแต่ละราย มาช่วยทำโครงการวิจัยและพัฒนายกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมดำเนินงานกว่า 1,300 ราย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งยังขาดทรัพยากรด้านต่าง ๆ สำหรับการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านการเงินและบุคลากร

“ความร่วมมือกับ สกว. ในครั้งนี้เราจึงมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ด้านอาหาร เกษตรแปรรูป เครื่องสำอาง โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพ รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เอสเอ็มอีเติบโตบนเศรษฐกิจฐานความรู้ ไปเป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ในการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางของประเทศต่อไป”

ด้าน รศ. ดร.รัชพล สันติวรากร ผู้อำนวยการ ITAP สวทช. เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินการของโครงการนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและนักวิจัยเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการมีการตื่นตัวในการสร้างสินค้านวัตกรรมมากขึ้น และเกิดนักวิจัยที่มาร่วมทำงานกับภาคเอกชนใหม่ถึงร้อยละ 22 ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการทำบันทึกความร่วมมือกันเป็นปีที่ 3 ซึ่งแบ่งเป็นโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ 50 โครงการ และเพิ่มรูปแบบทุนวิจัยในการทดลองระดับโรงงานต้นแบบอีก 25 โครงการ เพื่อสร้างให้นักวิจัยศึกษาวิจัยแบบบูรณาการและทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง อีกทั้งยังช่วยพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ ตลอดจนสามารถพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย ซึ่ง สกว. และ สวทช. จะร่วมกันบริหารจัดการงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อผลักดันงานวิจัยที่เกิดขึ้นให้สามารถจัดจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้สามารถพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ภายหลังการลงนามความร่วมมือได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากงานวิจัยจำนวนกว่า 100 ผลิตภัณฑ์จาก 8 กลุ่มงานวิจัย ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเวชสำอาง ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม อาหารพร้อมรับประทาน อาหารพร้อมปรุง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบอาหาร และขนมหวาน นอกจากนี้จะมีการบรรยาย “นวัตกรรมนั้นสำคัญอย่างไร” จากคุณสุรนาม พาณิชการ ผู้ก่อตั้งโทฟุซัง และการเสวนา “กว่าจะได้งานวิจัยที่พร้อมจะขายจริงในเชิงพาณิชย์” โดยคุณประพันธ์พงษ์ นทกุล คุณโชคยิ่ง พิทักษากร และคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ตลอดจนการนำเสนอรูปแบบทุนวิจัยในปี 2561

สำหรับพิธีมอบรางวัลผลงานวิจัยประจำปีงบประมาณ 2559 (ระยะที่ 1) Innovative House Awards และการประกาศผลรางวัลผลงานวิจัยเด่นในแต่ละด้าน 12 รางวัล ประกอบด้วย

รางวัลนักวิจัยดีเด่น ศ.เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช มโนสร้อย และคณะ มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ จากผลงานเครื่องดื่มลูกเดือยแบบช็อต

รางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เด่น บรรจุภัณฑ์เชิง FUNCTION นางสุวีณา จันทพิรักษ์ และคณะ (เครื่องดื่มรังนกกึ่งสำเร็จรูป)

รางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เด่น บรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีไซน์ เซ็นส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง (เครื่องดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาวเข้มข้น)

รางวัลผลิตภัณฑ์เด่น ด้านผลิตภัณฑ์นวัตกรรม คุณโชคยิ่ง พิทักษากร และคณะ (เยลลี่ Juice ball)

รางวัลผลิตภัณฑ์เด่น ด้านผลิตภัณฑ์แนวคิดสร้างสรรค์ ศ.เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช มโนสร้อย และคณะ (ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกรุ๊ปเลือด)

รางวัลผลิตภัณฑ์เด่น ด้านผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ คุณสุรวิชญ์ ทิพยารมณ์ และคณะ (ท็อปปิ้งมะม่วงน้ำดอกไม้)

รางวัลผลงานวิจัยเด่น เยลลี่ Juice ball โดย ดร.วิชชา ตรีสุวรรณ และคณะ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รางวัลผู้ประกอบการดีเด่น คุณวรรลี หมื่นสวัสดิ์ (บริษัท โชคดี ซี โปรดักส์ จำกัด) คุณธนัญชย์ ธนทวี (บริษัท เอ็กซ์ปอร์ตวัน จำกัด) คุณตรีชฎา มาลยาภรณ์ (บริษัท เฟอร์ฟู แปซิฟิก จำกัด) และ คุณสรัลภัค จิรโรจน์วัฒน (ร้านผึ้งยิ้ม)

รางวัล POPULAR VOTE บริษัท เอสพีเค ไรซ์ จำกัด ผู้ผลิตเซรั่มบำรุงผิวหน้าจากข้าวไรซ์เบอร์รี่