ได้ใจอย่างแรง ป.1 พระหฤทัยคอนแวนต์ ประดิษฐ์ ‘งอบติดแอร์’ คลายร้อนให้ชาวนา

พวกหนูสั่งซื้องอบทางอินเตอร์เน็ตจากนั้นก็นำงอบมาเจาะรูที่ด้านบน และนำพัดลมคอมพิวเตอร์เก่าๆ มาใส่ในงอบ จากนั้นก็นำสาย USB เก่าที่ไม่ได้ใช้มาเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ และนำรังงอบมาติดกับกระหม่อมงอบ ด้วยลวดกำมะหยี่สานให้เป็นตะแกรงเพื่อให้วางเจลเย็นได้ แล้วนำสายรัดยางยืดมาติดเพื่อเป็นตัวล็อกเครื่องสำรองไฟ หรือเพาเวอร์แบงก์ และจากนั้นก็ใช้สาย USB เชื่อมกับเครื่องสำรองไฟเพียงเท่านี้พัดลมก็ทำงานได้แล้ว”

น้องดาด้า – เด็กหญิงณภัทร สาตราร้าย และ น้องสมายด์ – เด็กหญิงวรัชญา อินทร์ตรี อายุ 7 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ หนึ่งในทีมนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ ที่อายุน้อยที่สุดในงานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติประจำปี 2561 ร่วมกันอธิบายถึง “งอบติดแอร์” ผลงานประดิษฐ์ที่นำมาจัดแสดง และเล่าถึงแรงบันดาลใจในการคิดประดิษฐ์ผลงานนี้ว่า

ทุกครั้งที่รับประทานข้าวที่โรงเรียน คุณครูมักบอกว่า ต้องรับประทานข้าวให้หมดเพราะสงสารชาวนา อีกทั้งเห็นเพื่อนบ้านที่มีอาชีพทำนาเขาต้องตากแดดทำนา ดังนั้น จึงรู้สึกสงสารชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ จึงคิดหาวิธีช่วยเหลือ

“การทำงอบติดแอร์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยคลายความร้อนให้ชาวนาไทยได้บ้าง”

แม้งานจะจบไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ในใจของเด็กๆ คือความภาคภูมิใจกับการได้เป็นตัวแทนของโรงเรียน  ขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนถึงความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ ที่มุ่งที่จะเป็นพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมดีๆ เพื่อสังคม

งานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติประจำปี 2561 ปีนี้มีทัพผลงานการประดิษฐ์คิดค้นกว่า 2,000 ผลงานจากนักคิดของไทยและนานาชาติ รุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ประชันผลงานกันอย่างคึกคัก ที่ ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประธานการจัดงาน บอกว่า เป็นเวทีก้าวสำคัญของเยาวชน ภายใต้โครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่” ซึ่งน่าปลื้มใจมากที่ปีนี้มีเยาวชนทั้งนักเรียนและนักศึกษาทั่วประเทศนำผลงานเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 550 ผลงาน นอกจากงอบคลายร้อนให้คุณป้า คุณย่า คุณยาย ชาวนา ภายในงานยังมีสิ่งประดิษฐ์น่าสนใจอีกมากมาย

ตัวอย่างเช่น “กระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ” รางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคมและภูมิปัญญาไทย ของ เด็กหญิงจ้าวไหม ตั้งศิริพัฒน์ เด็กหญิงสุพิชญาณ์ เหมรัญช์โรจน์ และ เด็กหญิงกุลณัฏฐ์ โตวิกกัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะตัวเองและเพื่อนๆ เป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียน และบางครั้งก็เห็นเพื่อนนักกีฬาด้วยกันได้รับบาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา ซึ่งถ้าไม่ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี อาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่รุนแรงได้ จึงได้ร่วมกันทำกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะขึ้นมาด้วยงบประมาณหนึ่งแสนบาท

“ภายในกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ นั้นประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ กระเป๋า รถเข็น และเปลสนาม ซึ่งภายในกระเป๋าก็แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ประกอบด้วย แอลกอฮอล์ เบตาดีน สำลี เป็นต้น และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลกู้ชีพ ประกอบด้วย อุปกรณ์การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า และเครื่อง CPR ใช้สำหรับผู้ที่เป็นลมหมดสติ แต่ถ้าปฐมพยาบาลแล้วยังไม่ดีขึ้น เราก็มี ESI EMERGENCY CALL สำหรับกดปุ่มเรียกหน่วยพยาบาลที่อยู่ในระยะใกล้เคียง เพื่อมารับตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาล

“ถัดมาคือรถเข็นผู้ป่วยซึ่งสามารถพับเก็บเป็นกระเป๋าเดินทางล้อลากได้ สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 120 กิโลกรัม และเปลสนามก็เช่นเดียวกันสามารถ รองรับน้ำหนักได้มากถึง 120 กิโลกรัม อีกหนึ่งความพิเศษของกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ นั้นสามารถพับเก็บได้ไปได้ทุกที่ด้วยน้ำหนักที่เบาสบายเพียง 6-7 กิโลกรัม เท่านั้น”

สำหรับรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ระดับอุดมศึกษา ปีนี้เป็นผลงานของนักศึกษาจากวิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม

คุณัชญ์ รักน้ำเที่ยง อธิบายถึงแนวคิดในการประดิษฐ์ “รถสามล้อไฟฟ้าตัดหญ้าสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ” ว่า สังคมปัจจุบันนี้มีคนพิการและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การนำอุปกรณ์บางอย่าง เช่น วีลแชร์มาดัดแปลงเพียงเล็กน้อยบางครั้งก็ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและทำให้คนเหล่านั้นมีความสุข ภาคภูมิใจในตนเองที่ยังสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามกำลังที่มีอยู่

“เราได้นำจักรยานของผู้พิการมาดัดแปลงด้วยการเอาคันโยกออก และใส่มอเตอร์ไฟฟ้าของจักรยานญี่ปุ่นเข้าไปแทนที่ ส่วนที่ตัดหญ้านั้นเราได้ใส่ไว้ด้านใต้ท้องจักรยานโดยติดตั้งแบตเตอรี่ไว้ด้านหลัง เมื่อเปิดปุ่มใช้งานจักรยานไฟฟ้าแล้ว ถ้าหากต้องการตัดหญ้าด้วยก็กดปุ่มที่อยู่ด้านซ้ายมือ และเมื่อเลิกใช้ก็กดปุ่มเดิม จากการทดสอบวิ่งทางตรงบนถนนที่ไม่มีการตัดหญ้า รถสามารถวิ่งได้ 20-25 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ถ้ารถทำการตัดหญ้า ก็จะวิ่งได้ประมาณ 20-25 กิโลเมตร” คุณัชญ์ อธิบาย

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนรุ่นใหม่ ยังมีที่น่าสนใจอีกมาก เช่น พลาสติกชีวภาพจากเปลือกกล้วย โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยพิษณุโลก ชนะเลิศประเภทเพื่อพลังงาน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน