เอสเอ็มอีแนะใช้นวัตกรรมเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จ

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีชี้เส้นทางกว่าจะได้งานวิจัยที่พร้อมขายจริงในเชิงพาณิชย์ ต้องอาศัยนวัตกรรมและความรู้จากหน่วยงานวิจัยเป็นบันไดเลื่อนหรือลิฟต์สู่ความสำเร็จ “อภิรักษ์” ชี้วิจัยต้องคิด ทำ และใช้งานได้เร็ว เพราะโลกหมุนไปเร็ว จะได้มีสินค้านวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดได้มากขึ้น

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้บริหารบริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด) กล่าวระหว่างการเสวนา “กว่าจะได้งานวิจัยที่พร้อมจะขายจริงในเชิงพาณิชย์” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่าธุรกิจของตนสามารถสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกร โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร คือข้าวโพดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายใต้องค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระแสโลกที่คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ตนมองเห็นโอกาสที่จะผลิตสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม

โดยส่วนตัวแล้วนายอภิรักษ์กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมนโยบายการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าถึงนวัตกรรมของ สกว. และ สวทช. เป็นอย่างมาก เพราะหากเรายังคงผลิตสินค้าแบบเดิม ๆ ก็ต้องแข่งขันด้านการตลาดและราคามากขึ้น แต่เมื่อมีการคิดค้นนวัตกรรมก็จะทำให้เกิดการผลิตสินค้าใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ซึ่งตนก็ได้แรงบันดาลใจตั้งแต่สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เห็นผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่นที่ปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์และกระแสความต้องการของผู้บริภาค เช่น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้รับประทานสะดวกสบายมากขึ้น สินค้าของตนสามารถตีตลาดได้ทั้งประเทศไทยและอาเซียน จึงอยากให้ผู้ประกอบการมองตลาดให้กว้างขึ้นมากกว่าในประเทศด้วย นอกจากนี้ตนยังได้สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจโดยทำงานร่วมกับนักวิชาการด้านอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูก การดูแลหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปผลิตภัณฑ์

การทำธุรกิจแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร ผู้ประกอบการมักต้องเผชิญกับภัยแล้งและน้ำท่วม ดังนั้นจึงควรสร้างเครือข่ายชุมชน กลุ่มแม่บ้านหรือโอท็อป รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน เพื่อต่อยอดนวัตกรรมผลิตสินค้าที่ขายได้จริงในราคาที่คนเข้าถึงจึงจะแจ้งเกิดสินค้าได้ “ภูมิปัญญาท้องถิ่นพื้นบ้านสามารถนำมาต่อยอดกับนวัตกรรมได้หมด เมื่อทำวิจัยแล้วงานต้องขายได้ในธุรกิจจึงจะเป็นการวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ที่สำคัญหน่วยงานวิจัยต้องคิดงานให้เร็วขึ้น เข้าไปช่วยเอสเอ็มอีในพื้นที่แต่ละภูมิภาค ภายใต้ต้นทุนของประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เยอะ ทำแล้วต้องวางตลาดได้เร็วเพราะโลกเราหมุนไปเร็วมาก ต้องเราเร่งสปีดให้งานออกมาเร็วขึ้น จึงจะผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดได้มากขึ้น”

ขณะที่นายโชคยิ่ง พิทักษากร ผู้บริหารบริษัท ภัทชนิก จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์เด่นด้านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจาก สกว. และ สวชท. กล่าวถึงการผันตัวจากดีไซเนอร์มาสู่เอสเอ็มอีว่าจะทำอะไรก็ต้องสร้างสรรค์ ไม่เหมือนคนอื่น แต่ความฝันในการเป็นเกษตรกรไม่หอมหวานนักในช่วงแรก ผลไม้แปรรูปที่ผลิตออกมาจำหน่ายในระดับพรีเมียมถูกคัดออกเยอะมาก จนเกิดความทุกข์ใจอย่างหนัก เพราะผลไม้สดมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการขนส่งเพื่อจัดจำหน่าย จึงต้องหาทางแก้ปัญหาจนได้เข้าร่วมโครงการ “การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง” ของ สกว. และ สวทช.

“ผมเริ่มต้นธุรกิจเอสเอ็มอีจากความไม่คุ้นเคย ไม่มีความเชี่ยวชาญ แต่การผลิตสินค้าต้องได้มาตรบาน กระบวนการผลิตที่ทันสมัย และสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากของเดิมที่มีอยู่ จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค การขยายงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการมาสู่พาณิชย์จริงต้องใช้เวลานานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นการคิดงานวิจัยและนวัตกรรมจะต้องมีจุดขายและเกิดผลกระทบ มีปริมาณมากพอที่จะรองรับตลาด รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยสวยงาม ซึ่งตนพยายามสร้างจุดเด่นความเป็นชาติและตัวตนจากทรัพยากรที่มีอยู่ นั่นคือการแปรรูปผลไม้ไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยใช้เทคนิคในการช่วยห่อหุ้มน้ำผลไม้ธรรมชาติให้คงตัว มีรสชาติและลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์”

ด้านนายประพันธ์พงษ์ นทกุล ผู้บริหารบริษัท โนวัส อินเตอร์เทรด จำกัด ระบุว่าแต่เดิมตนเป็นวิศวกรแต่เมื่อมาทำธุรกิจของครอบครัวซึ่งอยู่ในวงการยาและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค ก็คิดทำผลิตภัณฑ์ที่รองรับสังคมสูงวัยและเด็กเล็กซึ่งเป็นตลาดใหม่และโอกาสทางธุรกิจเพื่อชิงพื้นที่ทางการตลาด นั่นคือยาสีฟันออร์กานิกเกรดอาหารเพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และมีรสชาติดีเพื่อสร้างความภักดีต่อสินค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริภาคเป็นเรื่องยาก แต่เชื่อมั่นว่าช่องปากเป็นประตูที่นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการทำธุรกิจยาสีฟันเพื่อสุขภาพจึงน่าจะตอบโจทย์ได้ดี แต่ต้องทำการตลาดไม่ซ้ำรอยเดิม “ผู้ประกอบการต้องหาบันไดเลื่อนหรือใช้ลิฟต์สำหรับการทำธุรกิจ นั่นคือมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยงานวิจัย อย่าคิดแต่หวังพึ่งพาตัวเอง”