เผยแพร่ |
---|
กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดยุทธศาสตร์ผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ 4 ด้าน เพื่อให้สอดคล้องยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ พันธกิจหลักที่ต้องการให้ “ไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับระดับสากล”
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 1.สร้างความรู้ ตลอดห่วงโซ่สินค้า ถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ การเพิ่มมูลค่าสินค้า คุณภาพสินค้าต้องให้เป็นที่ยอมรับในการบริโภค การซื้อขาย 2.การรับรองมาตรฐานของสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งในระดับสากลและในระดับประเทศ เช่น มาตรฐานของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements-IFOAM) ระบบรับรองมาตรฐานและส่งเสริมกระบวนการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม (participatory guarantee system : PGS) ซึ่งเป็นระบบ “ชุมชนรับรอง” เป็นการรับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยองค์กรผู้ผลิตเอง และมาตรฐานอื่น ๆ ที่หน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับในการเข้ามารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ 3.การเชื่อมโยงตลาดในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตได้จะสามารถจำหน่ายผ่านช่องทางที่ดำเนินการให้ เช่น โมเดิร์นเทรด ฟาร์มเอาต์เลต (farm outlet) เป็นต้น และ 4.สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย นอกจากจะขายเป็นเพียงสินค้าผัก ผลไม้ เพิ่มมูลค่าโดยพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เครื่องสำอาง
ต้องยอมรับว่าตลาดโลกนั้นมีความต้องการสินค้าเกษตรที่ปลอดสารเคมีมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความใส่ใจเรื่องของสุขภาพและคุณภาพของอาหารที่จะเข้าสู่ร่างกาย และมูลค่าการซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกนั้น มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท โดยตลาดใหญ่ที่สุด คือ ตลาดสหรัฐ มีสัดส่วน 50% รองลงมาเป็นตลาดยุโรป ซึ่งฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นประเทศที่มีการบริโภคมากสุดในตลาดยุโรป
ขณะที่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีมูลค่า 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็นการทำตลาดในประเทศ 30% มูลค่า 800 ล้านบาท โดยมูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์เติบโตต่อเนื่องมากว่า 3 ปี นับจากปี 2557 ซึ่งมูลค่าการซื้อขายภายในประเทศ 500 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 20% ทุกปี ขณะที่ตลาดต่างประเทศ 70% มูลค่า 1,900 ล้านบาท ช่องทางการทำตลาดในต่างประเทศก็ยังเพิ่มขึ้นและมีโอกาสอีกมากสำหรับเกษตรกรไทยและผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์
โดยในอีก 5 ปีข้างหน้าหลังจากดำเนินการตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แล้ว ทั้งสองหน่วยงานวางเป้าหมายว่าจะปรับสัดส่วนการทำตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 40% และลดสัดส่วนตลาดต่างประเทศจาก 70% เหลือ 60% โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนขยายช่องทางในการทำตลาด เชื่อมโยงผู้ซื้อ ผู้ขาย เข้าถึงกันให้มากขึ้น
ในภาคการผลิตได้วางเป้าหมายเพิ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ 3 เท่าตัว หรือ 30,000 รายจากปัจจุบัน 10,000 ราย และเพิ่มพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์อีก 1 เท่าตัวจาก 300,000 เป็น 600,000 ไร่ทั่วประเทศ เนื่องจากยังเห็นโอกาสทางการค้าที่จะเติบโตในอนาคต ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยได้เพิ่มขึ้น
สำหรับคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของตลาดเกษตรอินทรีย์ในปี 2561 คาดว่าะขยายตัว 20-50% จากปีที่ผ่านมา โดยกรมฯ ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดคัดเลือกจังหวัดที่เหมาะสมเพื่อเข้าร่วม “โครงการจังหวัดเกษตรอินทรีย์”
โดยจังหวัดนั้นจะต้องเป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรที่สามารถรวมตัวเป็นกลุ่ม/สหกรณ์ และต้องมีพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่ที่เพาะปลูก ซึ่งเบื้องต้นทางพาณิชย์จังหวัดเสนอรายชื่อจังหวัดจันทบุรี กระบี่ สตูล ชลบุรี (จากปีก่อนที่มีจังหวัดชัยภูมิ นครพนม นครปฐม ฉะเชิงเทรา ยโสธร)
สำหรับจังหวัดที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาส่งเสริมทุกด้าน จะสนับสนุนการจดทะเบียนรับรองมาตรฐานให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยในต่างประเทศด้วย เพื่อให้สามารถทำตลาดการค้า การส่งออกได้นอกจากนี้ กรมจะขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้ารูปแบบ “ฟาร์มเอาต์เลต”ให้ครบเป้าหมาย 100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า
สำหรับแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปีนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ กรมฯ เตรียมจัดงานประกวดสินค้าที่ทำจากเกษตรอินทรีย์ จากนั้นในช่วงเดือนกรกฎาคม จะร่วมมือกับผู้จัดงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเยอรมนี จัดงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ขึ้นที่ไทยเป็นครั้งแรก เพื่อจัดกิจกรรมเจรจาซื้อขาย เพื่อโปรโมตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์