พันธมิตร 2 สถาบันสิ่งแวดล้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ส.นภาและ กัสโก้ในเครือ SN Group ร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน

ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท ส.นภา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท  โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ในเครือเอสเอ็นกรุ๊ป พร้อมด้วยพันธมิตร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สวสท.) ผนึกกำลังจัดงาน “วันวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2” ในวันที่ 9 – 10 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ระหว่างเวลา 08.30- 16.00 น. ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการร่วมพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมโลก

นางเกตุวลี นภาศัพท์ ประธานกรรมการ บริษัท ส.นภา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า “ส.นภา และ กัสโก้ ในเครือเอสเอ็นกรุ๊ป ผู้นำธุรกิจน้ำและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรระดับประเทศ ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย การบริการของ ส.นภา และ กัสโก้ครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา ออกแบบ ก่อสร้างและบริหารจัดการระบบผลิตน้ำประปา  น้ำเพื่ออุตสาหกรรม รวมทั้งระบบน้ำรีไซเคิล และระบบบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม พร้อมการออกแบบติดตั้งระบบสระว่ายน้ำและงานภูมิสถาปัตย์ด้านน้ำ รวมถึงการบริการหลังการขายอย่างครบวงจร

ซึ่งตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ส.นภา และ กัสโก้ ถือเป็นกลุ่มบริษัทที่สามารถให้บริการด้านการบริหารจัดการระบบน้ำและสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบวงจร และมีหน่วยงานปฏิบัติการอยู่ทุกภาคของประเทศไทย ทำให้มีความคล่องตัวในการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรอบด้าน โดยนโยบายของ ส.นภา และ กัสโก้ ในปี 2561 คือ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 และรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones) และ Smart Park

นางเกตุวลี  กล่าวด้วยว่า “ทางส.นภา และ กัสโก้ ได้มีการปรับเปลี่ยนพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรรมศาสตร์ และเอสเอ็นกรุ๊ป มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อต่อยอดและเชื่อมโยงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไปสู่ภาคการปฏิบัติในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน ภายในงาน “วันวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2” นี้ ทาง ส.นภา และ กัสโก้ ได้นำระบบผลิตน้ำประปาเคลื่อนที่ (Mobile Plant) มาจัดแสดงภายในงาน พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความรู้ในการสัมมนาวิชาชีพ “ประสบการณ์การทำงานด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม” อีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกูล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความร่วมมือกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเอสเอ็นกรุ๊ปว่า “ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มีผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่มีความพร้อม และทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างรอบด้าน โดยมีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านน้ำ อากาศ ตลอดจนการบำบัดของเสียอื่นๆ ในอุตสาหกรรม และการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภาควิชาฯ ยังมีประสบการณ์การทำงานกับภาคเอกชนและท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกไปแก้ปัญหาชุมชน การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคม ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมไทย ซึ่งผลงานของภาควิชาฯ ก็เป็นที่ประจักษ์ยอมรับในมาตรฐานระดับสากล โดยการร่วมมือกันในครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ สนับสนุนการศึกษาดูงานและการแก้ไขปัญหาจากหน้างานจริงรวมถึงการวิจัยทดลองและต่อยอดองค์ความรู้ต่างๆ ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

โดยในระยะสั้น: ทางจุฬาฯ และเอสเอ็นกรุ๊ป จะมีทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อร่วมพัฒนาวิศวกรสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (R&D) เกี่ยวกับกระบวนการเมมเบรน (Membrane) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน โดยเป้าหมายจะมุ่งไปที่การนำเมมเบรนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแพร่หลาย ดังนั้นนักวิจัยจะต้องพัฒนาเมมเบรนให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เพื่อที่จะสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้  และในระยะยาว : เราจะได้เห็นการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย มากขึ้น โดยทางบริษัทอาจเกิดปัญหาในกระบวนการทำงาน ซึ่งจะต้องใช้การวิจัยศึกษาเพื่อแก้ไข ทางจุฬาฯ ก็พร้อมจะสนับสนุนงานด้านการวิจัยดังกล่าวอย่างเต็มที่ หรือทางจุฬาฯ มีความต้องการที่จะจัดการฝึกอบรม ศึกษาดูงานและทำงานวิจัยต่าง ๆ ก็สามารถขอความร่วมมือไปกับทางบริษัทเพื่อขอใช้สถานที่จริงในการทำกิจกรรมได้ นำมาซึ่งประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้การทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่ายนั้น ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้าง National branding ด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยจุดมุ่งหมายดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกมาก แต่ถึงกระนั้นความร่วมมือของทั้ง 2 ภาคฝ่ายก็ได้เกิดขึ้นแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นนวัตกรรมจากประเทศไทยในเวทีระดับโลกอย่างแน่นอน”