เผยแพร่ |
---|
มาได้จังหวะถูกที่ถูกเวลา เมื่อภาครัฐและเอกชน คือ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันผลิตหลักสูตร “การพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ” ออกมาสำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นหลักสูตรกลางในการเลี้ยงโคนมของไทย หลังจากที่ก่อนหน้านั้นต่างฝ่ายต่างผลิตหลักสูตรในการเลี้ยงโคนมเพื่อใช้ในการผลิตนมของเกษตรกรในสังกัด
เท่ากับว่าในอนาคต ไทยสามารถประยุกต์นำข้อดีของการเลี้ยงโคนมของประเทศเดนมาร์ก ที่ อ.ส.ค.มีความเชี่ยวชาญมานาน มาผสมกับข้อดีของการเลี้ยงโคนมของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ฟรีสแลนด์คัมพิน่าเชี่ยวชาญ รวมทั้งด้านการบริหารจัดการฟาร์ม โรคระบาดในโคนมที่ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชี่ยวชาญได้ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเสริมความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย ให้สู้กับนมผงจากต่างประเทศที่ไทยจะต้องยกเลิกการเก็บภาษีในปี 2568 จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ เพราะทุกวันนี้ผู้เลี้ยงโคนมของไทยลดจำนวนลงไปมาก จาก 3 หมื่นกว่ารายลงมาเหลือ 1.6 หมื่นรายเท่านั้น
สอดรับกับนโยบายรัฐบาลชุดนี้ในการขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0 ด้านการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต้องการให้คนไทยกินดีอยู่ดี มีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ ในส่วนเกษตรกรสามารถผันตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบมาเป็นผู้ประกอบการทางเกษตรสมัยใหม่ หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ได้มีการบริหารจัดการที่ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำ
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้เป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนของเกษตรกรไทย ถือเป็นพันธกิจหลักของ อ.ส.ค. โดยล่าสุด อ.ส.ค.ได้จัดทำแผนแม่บทส่งเสริมการเลี้ยงโคนม 4.0 รองรับ ยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2560-2569 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนพัฒนายกระดับประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐาน พร้อมวิจัยพัฒนาเผยแพร่องค์ความรู้การเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเจ้าหน้าที่ ส่งเสริมให้เป็นมืออาชีพ ตลอดจนส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกให้มีความมั่นคง และเติบโตในอาชีพการเลี้ยงโคนม “หลักสูตรการพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ” ที่เสร็จสมบูรณ์ จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เกษตรกรโคนมไทยตื่นตัวกับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ในฐานะการเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนมไทยสู่ระดับสากล
ดร.โอฬาร โชควิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า กล่าวว่า ความสำเร็จในการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาโคนมแห่งชาติ จะเป็นการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรโคนมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ด้วยการนำองค์ความรู้จากการดำเนินโครงการพัฒนาโคนมและคุณภาพน้ำนม ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้กว่า 140 ปี ในการจัดการฟาร์มโคนม การพัฒนาคุณภาพน้ำนมและผลิตภัณฑ์นม จากเกษตรกรโคนมจากเนเธอร์แลนด์สู่เกษตรกรชาวไทย
ขณะที่ ผศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จุดเด่นของหลักสูตรนี้ คือ ความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่มาจากการบูรณาการองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ เป็นหลักสูตรที่ปรับให้เหมาะสมกับการทำเกษตรโคนมในไทย โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในปัจจุบันและเกษตรกรผู้เลี้ยงรายใหม่ เพื่อสร้างมาตรฐานในการเลี้ยงโคนมที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมด้วยทางด้าน นายสมสวัสดิ์ ตันตระกูล ที่ปรึกษาบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่าผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงโคนมทั้งในรูปแบบของเดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การผลิตหลักสูตรนี้จะช่วยเกษตรกรโคนมไทยได้มาก หากมีการเปิดเสรีนำเข้านมผงไม่มีการเก็บภาษีในปี 2568 เกษตรกรไทย 50% สู้ได้ อีก 25% ต้องปรับตัวด้านองค์ความรู้ และการเพิ่มปริมาณโคนมขึ้นเป็นฟาร์มขนาดกลาง อีก 25% ที่เหลือเป็นรายเล็ก มีต้นทุนการเลี้ยงสูงจะอยู่ลำบาก หากรัฐจะช่วยเหลือคงช่วยไม่ได้ทุกกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ฟาร์มขนาด 30-35 แม่โคที่รีดนมได้ มีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละแสนบาท สามารถสู้ศึกการนำเข้านมผงเสรีได้ ที่น่าเป็นห่วงกลับเป็นเรื่องโรคระบาดทั้งปากและเท้าเปื่อยที่รุนแรงเกือบทุกเดือน เมื่อก่อนโคนมเป็นโรคนี้ยังกลับมาให้นมได้ แต่เดี๋ยวนี้เชื้อระบาดลงถึงเต้านมโค ทำให้ไม่มีน้ำนม หรือมีน้อยจนไม่คุ้มทุนในการเลี้ยง ซึ่งมาจากความบกพร่องของทุกฝ่าย และเชื้อโรครุนแรงขึ้น รวมทั้งโรคปอดอักเสบทำให้โคนมตายเฉียบพลัน ต้องผลักดันโคนมฝูงใหม่มาทดแทนโคเหล่านี้ที่ไม่ให้น้ำนมหนักขึ้น