หนุนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมภาคเหนือ หวังเกษตรกรมีรายได้ 6,000-10,000 บาท/เดือน

นายไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมหม่อนไหมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชน ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในเขตภาคเหนือ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนเขาหัวโล้น และสร้างป่าต้นน้ำในเขตภาคเหนือ พร้อมส่งเสริมการผลิตเส้นไหมและรังไหมเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการส่งออกสินค้าและวัตถุดิบด้านหม่อนไหม รวมทั้งสร้างกลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชน และเปิดช่องทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้มีอาชีพที่มั่นคง เนื่องจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สม่ำเสมอ และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและรวดเร็วด้วยโครงการนี้ ดำเนินการในรูปแบบประชารัฐ โดยมี 2 กิจกรรม

คือ 1. ส่งเสริมเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.น่าน เกษตรกร เป้าหมาย 200 ราย พื้นที่ 600 ไร่ เพื่อขยายกำลังผลิตรังไหมรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้สูงถึง 160 ตัน/ปี ขณะที่ปัจจุบันเกษตรกรผลิตรังไหมได้เพียง 40 ตัน/ปี เท่านั้น และ 2. การเลี้ยงไหมเพื่อผลิตแผ่นใยไหมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เกษตรกร 600 ราย พื้นที่ 1,800 ไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณแผ่นใยไหมให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

นอกจาก กรมหม่อนไหม จะให้องค์ความรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบเน้นหนักแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้ว ยังผลิตท่อนพันธุ์หม่อนพันธุ์ดีและไข่ไหมพันธุ์ดีสนับสนุนแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการสร้างและขยายแปลงหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมในพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ทำกินโรงเลี้ยงไหม และพัฒนาศักยภาพระบบน้ำในแปลงหม่อน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงไหมเพื่อผลิตรังไหม และแผ่นใยไหมได้มากขึ้นและจำนวนรุ่นเพิ่มขึ้น

ทั้งยังมีแผนส่งเสริมให้ปลูกพืชอายุสั้นแซมแปลงหม่อน หรือควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์และทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนประสานภาคเอกชนเพื่อวางแผนรับซื้อผลผลิตรังไหมและแผ่นใยไหมตามช่วงระยะเวลาและในราคาที่เหมาะสมด้วย

“หลังปลูกหม่อน 8-10 เดือน ก็สามารถที่จะเก็บเกี่ยวใบหม่อนมาเลี้ยงไหมได้ ซึ่งการเลี้ยงไหมจนทำรังได้ใช้เวลา ประมาณ 30 วัน อย่างไรก็ตาม อนาคตคาดว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถผลิตรังไหมเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมในการสาวไหมได้ไม่น้อยกว่า 120 ตัน ช่วยลดมูลค่าการนำเข้าเส้นไหมได้ถึง 120 ล้านบาท/ปี และผลิตแผ่นใยไหมได้ถึง 2 ล้านแผ่น ป้อนตลาดภายในประเทศและส่งออก เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีความต้องการนำเข้าแผ่นใยไหมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจำนวนมาก โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมจะมีรายได้ ประมาณ 6,000-10,000 บาท/เดือน และหากเกษตรกรเพิ่มพื้นที่แปลงหม่อนมากกว่า 3 ไร่ และมีการบริหารจัดการแปลงหม่อน มีการวางแผนการใช้น้ำที่ดี จะสามารถเลี้ยงเพิ่มจำนวนรุ่นได้มากขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกและมีอาชีพที่มั่นคงยิ่งขึ้น”

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์